×

กองทุนด้านสิ่งแวดล้อมชี้ เม็ดเงินสนับสนุนอากาศสะอาดเพิ่มสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรก

28.09.2023
  • LOADING...
เชื้อเพลิงฟอสซิล อากาศสะอาด

กองทุนด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Clean Air Fund ชี้ว่า รัฐบาล ธนาคารเพื่อการพัฒนา และหน่วยงานต่างๆ เพิ่มเม็ดเงินสนับสนุนอากาศสะอาดสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรก แต่อย่างไรก็ตาม งบสนับสนุนที่ได้รับก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เจน เบอร์สตัน กรรมการบริหารของ Clean Air Fund กล่าวว่า “การทำอากาศให้สะอาดช่วยอีกหลายชีวิตบนโลก ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และช่วยชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่จะให้ผลตอบแทนสูงสุด หากคุณร่วมให้ทุนสนับสนุนอากาศสะอาด”

 

รายงานด้านอากาศฉบับล่าสุดระบุว่า ความช่วยเหลือระหว่างประเทศสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลพุ่งสูงสุดในปี 2019 และลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น แต่ก็ยังคงมีการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ โดยในปี 2021 มีการใช้จ่ายเงินประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.5 หมื่นล้านบาท) ในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ เช่น การสร้างโรงงานถ่านหิน ซึ่งลดลงจาก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.4 แสนล้านบาท) ในช่วงสองปีก่อนหน้า ขณะที่จำนวนเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกลับเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.4 หมื่นล้านบาท) 

 

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่ตัวเลขงบประมาณที่จะใช้จ่ายเพื่ออากาศสะอาดก็ยังคิดเป็นเพียง 1% ของเงินทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และ 2% ของเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ

 

รายงานยังระบุอีกว่า ยังไม่มีการใช้เงินสนับสนุนเพื่ออากาศสะอาดในพื้นที่ที่มีความจำเป็นมากที่สุดอย่างทวีปแอฟริกา ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนด้านคุณภาพอากาศราว 5% ของเงินทุนระหว่างปี 2017-2021 แม้ว่าทวีปนี้จะเป็นที่ตั้ง 5 ใน 10 ประเทศที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกก็ตาม ขณะที่ 5 ประเทศที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศสูงในเอเชีย ได้แก่ จีน, ฟิลิปปินส์, บังกลาเทศ, มองโกเลีย และปากีสถาน กลับได้รับเงินทุนสูงถึง 86% ของเงินทุน

 

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตเป็นล้านคนจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้ปุ๋ยในภาคการเกษตร และปัจจัยด้านธรรมชาติอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากวิกฤตทางด้านอากาศได้ 

 

โดยตัวเลขจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มลพิษทางอากาศในพื้นที่กลางแจ้งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เกี่ยวพันกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 4.2 ล้านคนในปี 2019 ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่ยากจนและมีรายได้ปานกลาง ขณะที่พลเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยก็ยังสูดอากาศที่เป็นมลพิษเกินเกณฑ์ที่ WHO กำหนด ประเด็นการสนับสนุนอากาศสะอาดจึงเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ประชาคมโลกต้องช่วยกันรับมืออย่างจริงจัง

 

แฟ้มภาพ: A_B_C / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X