×

‘การบินไทย’ เล็งชงแผนเพิ่มทุน RO ไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทใน 2Q67 ส่งหุ้นใหญ่ ‘คลัง’ พิจารณาเคาะใส่เงินทุนตามสัดส่วนถือหุ้น

28.09.2023
  • LOADING...
การบินไทย

‘ซีอีโอ’ การบินไทย มั่นใจบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ในไตรมาส 3/67 พร้อมคาดนำหุ้นเข้าเทรดได้ช่วงปลายปี 2567 หลังเดินหน้าแผนเพิ่มทุนแล้วเสร็จครบตามเงื่อนไขแผนฟื้นฟูกิจการ

 

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย หรือ THAI เปิดเผยว่า ในช่วงประมาณไตรมาส 3/67 บริษัทมีแผนจะขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering: RO) มูลค่าไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งปัจจุบัน บมจ.การบินไทย มีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือกระทรวงการคลัง โดยมีเงื่อนไขว่าหลังการเพิ่มทุนจะต้องถือหุ้นไม่เกิน 40% อีกทั้ง บมจ.การบินไทย จะต้องไม่มีสถานะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในช่วงไตรมาส 2/67 บริษัทจะเข้าไปเสนอรายละเอียดของแผนการเพิ่มทุนและรายละเอียดที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

สำหรับกรณีที่มีผู้ถือหุ้นเดิมไม่ใช้สิทธิ์จองซื้อ RO ทำให้มีหุ้นเหลือจากการจัดสรร บริษัทจะนำหุ้นที่เหลือจัดสรรขายหุ้นเพิ่มออกใหม่ในลักษณะเป็นการทั่วไปโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะซื้อหุ้นต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทและจำนวนการจองซื้อไม่เกินกว่าสัดส่วนการถือหุ้น โดยเป็นการเสนอขายตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ให้เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะไม่เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Offering: PPO) 

 

นอกจากนี้ผู้ใช้สิทธิ์จองซื้อทั้งหุ้น RO หรือ PPO จะถูกกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาห้ามขายหุ้นสามัญ (Lock-up Period) เป็นระยะเวลา 6 เดือน เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นับตั้งแต่วันที่หุ้น THAI เริ่มกลับเข้ามาซื้อ-ขายตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

“Sizing ที่จะขายหุ้นเพิ่มทุนหลักหมื่นล้านบาทถือว่าไม่ใหญ่ คิดว่าน่าจะขายได้หมด เพราะช่วงนี้ในตลาดหุ้นโลก Valuation ของหุ้นสายการบินเป็นอยู่ในระดับราคาที่ดีตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เรื่องการเพิ่มทุนเท่าที่คุย กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เงินที่จะมาเพิ่มทุนกับการบินไทยไม่ได้ใช้แหล่งเงินที่มาจากงบประมาณปี 2567 ซึ่งคลังมีสิทธิ์ในการเลือกในการเพิ่มทุน โดยบริษัทก็นำเสนอแผนกับข้อมูลให้ทราบว่าถ้าใส่เงินเพิ่มทุนจะมีสัดส่วนถือหุ้นเท่าไร หรือถ้าไม่เพิ่มทุนสัดส่วนหุ้นที่เหลือในการบินไทยจะเป็นเท่าไร คาดว่าจะเข้าไปพูดคุยเรื่อง RO ได้ข้อสรุปเรื่องการเพิ่มทุนกับผู้ถือหุ้นเดิมในช่วงไตรมาส 2/67”

 

ทั้งนี้ภายหลังการเพิ่มทุนเสร็จยังเชื่อว่ามีโอกาสที่บริษัทจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้น 1 ไตรมาสจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงไตรมาส 4/67 มาเป็นในไตรมาส 3/67 พร้อมทั้งคาดว่าหุ้นของบริษัท การบินไทย จะกลับเข้าไปซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงปลายปี 2567 จากแผนการเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 หลังจากในไตรมาส 2/66 ได้ตามที่เคยให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้

 

เร่งเดินหน้าขยายฝูงบินเป็น 90 ลำ

อย่างไรก็ดียอมรับสถานกาณ์ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว ส่งผลให้ในอุตสาหกรรมการบินมีการสั่งต่อเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีผลกระทบทำให้การจัดหาเครื่องบินใหม่ของบริษัทดำเนินการจัดหาได้ไม่ทันความต้องการใช้งานของบริษัท ส่วนเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ว่าภายในปี 2570 จะต้องมีฝูงบินรวมเป็นจำนวน 95 ลำ ซึ่งสามารถจัดหาได้ทั้งในรูปแบบการซื้อหรือเช่าขึ้นสถานการณ์ที่เหมาะสม จากปัจจุบันมีเครื่องบินจำนวน 45 ลำ โดยขณะนี้บริษัทสามารถจัดหาเครื่องบินใหม่ได้แล้วจำนวน 11 ลำที่จะทยอยรับมอบในต้นปี 2567 รวมแล้วเป็นจำนวน 56 ลำ 

 

ทั้งนี้เมื่อนำมารวมกับเครื่องบินที่จะมีการปรับโครงสร้างของสายการบินไทยสมายล์ที่ทำการบินจะโอนกลับมาที่การบินไทยทั้งหมดจำนวน 20 ลำ และทยอยโอนนักบินและลูกเรือและจุดบินมาด้วย จะส่งผลให้บริษัทจะมีฝูงบิน 76 ลำ โดยเครื่องบินที่รับโอนได้เริ่มทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศไปแล้ว ได้แก่ ย่างกุ้ง, ธากา, เวียงจันทน์, พนมเปญ, อาห์เมดาบัด, เกาสง, ปีนัง และกัลกัตตา เหลือเส้นทางเวียดนาม ได้แก่ ฮานอย, โฮจิมินห์ และเชียงใหม่ จะเริ่มทำการบินวันที่ 29 ตุลาคม และกาฐมาณฑุ เริ่มทำการบินวันที่ 1 ธันวาคมนี้

 

อย่างไรก็ดีตามแผนของบริษัทต้องปลดระวางเครื่องบิน B777-200ER ออกไป 5 ลำ ส่งผลให้ในปี 2570 ฝูงบินของบริษัทจะมีจำนวนเครื่องบินจำนวน 90 ลำ  

          

ดังนั้นตามแผนธุรกิจบริษัทยังต้องจัดหาเครื่องบินใหม่เพิ่มอีก 14 ลำ เพื่อให้มีฝูงบินครบภายในปี 2570 ตามแผนฟื้นฟูฯ โดยหากบริษัทมีเครื่องบินใหม่เข้ามาเพิ่มในฝูงบิน บริษัทมีแผนจะกลับไปเปิดเส้นทางบินในยุโรปและออสเตรเลียที่มีความต้องการเดินทาง ได้แก่ เส้นทางบินไปเมืองออสโล, มิลาน และซิดนีย์ 

         

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างทำแผนการเครื่องบินระยะยาว 10 ปีข้างหน้า ซึ่งประเมินว่า บมจ.การบินไทย จะต้องมีฝูงบินจำนวนมากกว่า 100 ลำขึ้นไปเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยคาดว่าจะสามารถสรุปแผนขยายฝูงบินระยะยาวดังกล่าวได้ในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะมีทั้งการสั่งต่อเครื่องบินหรือเช่าเครื่องบินขึ้นกับสถานการณ์ เพราะปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องบินคือ Airbus และ Boeing ซึ่ง Airbus ปัจจุบันมีคำสั่งผลิตเครื่องบินที่รอผลิตอยู่จำนวนถึงประมาณ 400 ลำแล้ว แต่มีความสามารถในการผลิตได้จำนวน 100 ลำต่อปีเท่านั้น

 

ลั่นมีเงินพร้อมคืนเจ้าหนี้ตั๋วโดยสาร

กรณีที่บริษัทค้างหนี้เจ้าหนี้ผู้โดยสารที่ ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) ปัจจุบันประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีเงินพร้อมที่จะสามารถชำระคืนเงินได้ครบทั้งจำนวน ซึ่งส่วนใหญ่ติดปัญหาไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ เนื่องจากลูกค้าไม่ได้ให้ข้อมูลในการติดต่อกลับไว้ โดยหากลูกค้ายังไม่มาติดต่อขอรับเงินคือจากบริษัทภายในเดือนมีนาคม 2567 บริษัทก็จะนำทรัพย์ไปวางกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ของศาลล้มละลาย เพราะเป็นภาระหนี้ต้องจ่ายคืนให้กับลูกค้าผู้โดยสารที่เป็นเจ้าหนี้

 

คาดผลการดำเนินงาน 4Q66 ดีต่อเนื่อง รับอานิสงส์ฟรีวีซ่า

แนวโน้มผลการดำเนินงานของในไตรมาส 4/66 คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง โดยประเมินว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยกว่า 80% หลังจากเริ่มเห็นข้อมูลยอดจองตั๋วที่ทยอยเข้ามา รวมถึงผลบวกจากมาตรการฟรีวีซ่าของรัฐบาลที่เข้าช่วยกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวจีนให้เข้ามาไทยเพิ่มโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4/66 ซึ่งจะเป็นช่วง Golden Week ช่วงวันหยุดยาวของจีนซึ่งมีโอกาสที่ชาวจีนจะมีการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

 

ปัจจุบันการบินไทยมีการเส้นทางบินไปจีนจำนวน 25 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ซึ่งปัจจุบันยังมี Cabin Factor ที่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ โดยตามแผนงานมีจะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินไปจีนเป็น 35 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

 

อย่างไรก็ดียอมรับว่าผลการดำเนินงานของบริษัทอาจถูกผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นบ้าง ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทุกสายการบินต้องเผชิญด้วยเช่นกัน โดยบริษัทมีการปรับขึ้นราคาขายตั๋วเครื่องบินเพื่อให้ครอบคลุมตามต้นทุนน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

 

เปิดแผนตารางบินฤดูหนาวรับไฮซีซัน

ขณะที่ตารางการบินฤดูหนาว ปี 2566 การบินไทยจะทำการบินสู่ 50 เส้นทางทั่วโลก และเส้นทางบินในประเทศที่ทำการบินแทนไทยสมายล์ 9 เส้นทาง เริ่มวันที่ 29 ตุลาคม 2566 – 30 มีนาคม 2567 รวมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางบินที่ได้รับความนิยม ทั้งเส้นทางบินฮ่องกง, สิงคโปร์, ไทเป, โซล, โตเกียว, ซัปโปโร เพื่อรองรับความต้องการการเดินทางที่เพิ่มในช่วงของไฮซีซัน    

อีกทั้งคาดการณ์ว่าความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปยังต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายมากขึ้นแล้ว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้นๆ สำหรับชาวญี่ปุ่น เพื่อเดินทางไปพักผ่อนหรือติดต่อเจรจาธุรกิจ

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนในการเปิดเส้นทางบินใหม่การบินไทย ใหม่ กรุงเทพ-อิสตันบูล เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 

ซึ่งเส้นทางนี้การบินไทยได้ทำโค้ดแชร์กับสายการบิน Turkish Airlines โดยอิสตันบูลเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ที่เชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายต่างๆ เป็นอย่างดี 

 

ส่วนเส้นทางภายในประเทศ โดยบริษัทจะทยอยทำการบินเส้นทางในประเทศรวม 9 เส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคมเป็นต้นไป ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, ขอนแก่น, อุดรธานี, อุบลราชธานี, กระบี่, หาดใหญ่, นราธิวาส และภูเก็ต ซึ่งจะมีเส้นทางภูเก็ต 1 เที่ยวบิน ที่เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นของนโยบายกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X