วันนี้ (27 กันยายน) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจาก 2.25% เป็น 2.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. เป็นสิ่งที่ผิดไปจากความคาดหวังของตัวเองก่อนหน้านี้ จากเดิมคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25% หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงดอกเบี้ยก่อนหน้านี้
“แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะเซอร์ไพรส์ แต่จะเห็นว่าบอนด์ยีลด์ของไทยหลังการประกาศยังคงอยู่ที่เดิม สะท้อนว่าบอนด์ยีลด์ที่เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องจนแตะ 3.27% น่าจะรับข่าวไปพอสมควรแล้ว ที่สำคัญคือการขึ้นดอกเบี้ยของไทยครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้แล้ว จากข้อความที่แบงก์ชาติส่งออกมา”
นอกจากนี้ กนง. ยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ลงเหลือเติบโต 2.8% จากเดิมที่คาดเติบโต 3.6% เนื่องจากการส่งออก 8 เดือนที่ยังติดลบ 4.5% แต่ก็ปรับคาดการณ์การบริโภคขึ้น สะท้อนอุปสงค์ที่ฟื้นตัว ทำให้ปีหน้า GDP ไทยน่าจะเติบโตมากขึ้นเป็น 4.4% จากเดิมที่คาดเติบโต 3.8%
“ปัจจัยโดยรวมน่าจะสมดุลกัน ทำให้ตลาดหุ้นเริ่มมี Downside จำกัด และน่าจะเป็นโซนสะสมหุ้นแล้ว”
สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มักจะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ต้องรอดูว่าจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากได้มากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งต้องพิจารณาเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนประกอบด้วย
ขณะที่กลุ่มประกันยังได้แรงหนุนจากรายได้การลงทุนที่น่าจะดีขึ้น เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้บอนด์ยีลด์น่าจะทรงตัวได้ในระดับสูง
ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ผิดไปจากที่เราและตลาดคาดการณ์ไว้
ส่วนตัวมองว่าการตัดสินใจของ กนง. มาจาก 2 เหตุผลหลัก คือ เงินเฟ้อในระยะกลางที่มีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นอีกจากแรงกดดันจากฝั่งอุปทาน และการป้องกันไม่ให้เงินทุนไหลออก จนทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากกว่านี้
“2 เดือนที่ผ่านมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นมาค่อนข้างแรง ทำให้เงินเฟ้อในระยะกลางอาจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าเงินเฟ้อปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% จาก 1.6% ในปีนี้”
นอกจากนี้ ต้องตามดูว่านโยบายเงินดิจิทัลจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด หากหมุนได้มากก็จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์
“ตอนนี้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่งสูง ทำให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลกวิ่งขึ้นตาม ทำให้แบงก์ชาติอาจมองว่าหากไม่ปรับขึ้น ฟันด์โฟลวอาจไหลออกและกดดันให้เงินบาทยิ่งอ่อนค่าไปอีก”
โดยรวมเชื่อว่าดัชนี SET จะยืนอยู่ได้ในระดับ 1,460-1,490 จุด แต่ยังขาดปัจจัยบวกที่จะทำให้ตลาดฟื้นตัวได้แรง แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องความเสี่ยงวินัยการคลัง หากไทยโดนปรับลดมุมมอง (Outlook) ต่ออันดับความน่าเชื่อถือเป็น Negative จะทำให้ดัชนี SET มีความเสี่ยงจะลดลงไปถึง 1,440 จุด