วันนี้ (26 กันยายน) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 ต่อสัญญาจะพิจารณาเป็นรายปี
โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกร และบุคคลตามข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฉบับที่ 44 และ 45 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีเงินต้นเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท จำนวน 2.698 ล้านราย รวมเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566)
ชัยกล่าวว่า เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิพักชำระหนี้ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี
ชัยกล่าวว่า การพักชำระหนี้ 13 ครั้งที่ผ่านมา ไม่มีการติดตาม ทำให้ปัญหาวนกลับมาที่เดิม ที่ประชุมจึงพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยมี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นฝ่ายเลขานุการ