×

ชำแหละอำนาจและหน้าที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำอะไรกับปัญหา STARK และแผนพัฒนาเครื่องมือตรวจจับหา บจ. แต่งงบการเงิน

27.09.2023
  • LOADING...

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่หรือบทบาทอะไร อาจเป็นคำถามที่คนนอกวงการตลาดทุนมีความสงสัย ขณะที่คนในวงการตั้งคำถามว่า ปัญหาต่างๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งในตลาดหุ้นไทย ทั้งการปั่นหุ้นและการทุจริตตกแต่งงบการเงินนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาดูแลปัญหาเหล่านี้อย่างไรบ้าง

 

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งมีบทบาทและหน้าที่สำคัญคือ เป็น Marketplace ของการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ หรือ ‘หุ้น’ ในตลาดรอง รวมถึงเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลการซื้อ-ขายหุ้น ทั้งในตลาดแรก หรือที่เรียกกันว่าหุ้นที่ได้เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO และตลาดรองตามกฎหมาย

 

โดยกิจการหรือธุรกิจหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ Marketplace ที่ทำกับสมาชิกคือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ ‘โบรกเกอร์’ ที่ไปทำธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อ-ขายหุ้นกับนักลงทุนอีกต่อหนึ่ง และธุรกิจอีกส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การให้บริการแก่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีธุรกิจโดยตรงที่ทำกับนักลงทุน

 

 

ดังนั้นนิติสัมพันธ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกับโบรกเกอร์และ บจ. จะเป็นนิติกรรมแบบทางแพ่งหรือทางธุรกิจ ซึ่งมีการทำสัญญาข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกัน โดยเฉพาะข้อกำหนดหลักของ บจ. ต้องมีหน้าที่ในการเปิดข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเงื่อนไขกรอบที่กำหนด เช่น บจ. ต้องรายงานงบการเงินรายไตรมาสภายใน 45 วันหลังสิ้นงวด หรือรายงานงบการเงินรายปีภายใน 60 วันหลังสิ้นงวดปี และข้อมูลอื่นๆ ที่มีความสำคัญ

 

แมนพงศ์อธิบายถึงโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และไม่มีผู้ถือหุ้น โดยมีรูปแบบการดำเนินงานเป็นระบบสมาชิกและใช้ระบบกำกับดูแลตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) เทียบเท่ากับบริษัทมหาชน ซึ่งคณะกรรมการ หรือ ‘บอร์ด’ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาจากหน่วยงานกำกับดูแลคือ สำนักงาน ก.ล.ต. ที่แต่งตั้งมาจำนวน 6 ราย อีก 4 รายจะมาจากโบรกเกอร์สมาชิก และมีกรรมการและผู้จัดการอีก 1 ราย

 

ไม่ใช้ภาษีรัฐ-มีหน้าที่ต้องนำส่งรายได้ตามกฎหมาย

 

ด้วยโครงสร้างดังกล่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินธุรกิจที่สามารถหารายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กรด้วยตนเองได้ และไม่ได้นำงบประมาณภาษีจากภาครัฐมาใช้จ่ายภายในองค์กร เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินกิจการเอง ทั้งร่วมกับโบรกเกอร์และผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เช่น รับหลักทรัพย์จดทะเบียน, บริการซื้อ-ขายหุ้น, บริการศูนย์รับฝาก และบริการนายทะเบียน เป็นต้น

 

นอกจากนี้รายได้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องถูกนำส่งออกไปใน 3 ส่วน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

  1. จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% เช่นเดียวกับบริษัทมหาชนทั่วไป โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการจ่ายภาษีในส่วนนี้ทุกปีมาอย่างต่อเนื่องตามที่กฎหมายกำหนด
  2. จ่ายเงินนำส่งเพื่ออุดหนุนหน่วยงานกำกับดูแลคือ สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐอีกประมาณ 600-700 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับปริมาณธุรกิจในแต่ละปี เป็นการแบ่งเบาภาระเงินภาษีที่รัฐจะต้องมาดูแล
  3. หลังหักเงินสำรองตามกฎหมายและสำรองเพื่อการลงทุนแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องนำส่งเงินสัดส่วน 90% ให้กับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อนำไปใช้พัฒนาตลาดทุนแบบไม่แสวงหากำไร

 

นอกจากนี้หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ นำส่งเงินทั้ง 3 ส่วนเรียบร้อยแล้ว จะเก็บเงินไว้บางส่วนสำหรับใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกำกับการซื้อ-ขายในตลาดรองให้เป็นระเบียบ มีความเป็นธรรม ทันสถานการณ์รองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และแบ่งใช้กิจกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน และการลงทุน หรือ Financial Literacy อีกทั้งงบการเงินของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นนอกจากจะถูกตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีแล้ว ยังถูกตรวจสอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. และต้องส่งให้ที่ประชุมสมาชิกโบรกเกอร์รับรองด้วย

 

ชำแหละอำนาจกำกับของตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดรองกับโบรกเกอร์สมาชิก ภายใต้กฎระเบียบและข้อกำหนดร่วมกันทางแพ่ง มีอำนาจลงโทษตั้งแต่ตักเตือนไปจนถึงปรับเงินผู้ที่ทำผิดกฎ เพราะไม่ได้ถือกฎหมายหรือไม่มีอำนาจ ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ผู้มีอำนาจบังคับใช้ได้คือ สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้คุมกฎที่มากำกับตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทอดหนึ่ง

 

แมนพงศ์ เสนาณรงค์

 

อีกหน้าที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ เป็นด่านหน้าในการมอนิเตอร์ดูแลการซื้อ-ขายที่ผิดปกติ เช่น การสร้างราคา หรือความผิดปกติอื่นๆ หากพบว่ามีความผิดปกติจะมีหน้าที่ส่งข้อมูลต่อให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป ส่วนการกำกับ บจ. ก็อยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อกำหนดร่วมกันทางแพ่งเช่นเดียวกัน

 

ในกรณีที่ บจ. ทำผิด จะมีข้อกำหนดบทลงโทษ เริ่มตั้งแต่การขึ้นเครื่องหมายเตือนต่างๆ ที่ตัวหุ้นของ บจ. นั้นตามข้อกำหนด ตลอดจนการออกแถลงการณ์เตือนนักลงทุน หากยังไม่ปรับปรุงตามเงื่อนไขหุ้น ก็จะถูกสั่งพักการซื้อ-ขายชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น การขึ้นเครื่องหมาย Suspension (SP) หรือ Trading Halt (H)

 

กรณีที่ถูกตั้งคำถามว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการอย่างไรกับกรณีปัญหาของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ที่พบการทุจริตในการตกแต่งบัญชี หากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่มีความผิดปกติจะพบว่า จุดเริ่มมาจาก STARK ไม่ส่งงบการเงินปี 2565 ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อสั่งห้ามซื้อหุ้น STARK ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 จากนั้นได้มีการติดตามความคืบหน้าของปัญหา เพื่อให้ชี้แจงกลับมา และปลด SP ชั่วคราวตามเกณฑ์ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2566 เพื่อให้นักลงทุนมีโอกาสในการตัดสินใจ และกลับมา SP อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ไปจนกว่าบริษัทฯ จะสามารถดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน

 

“หลายคนสงสัยว่า ทำไมตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รู้ก่อนว่างบการเงิน STARK จะมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องชี้แจงว่า ตามกฎหมายแล้วเรา (ตลาดหลักทรัพย์) ไม่มีอำนาจจะรู้ข้อมูลงบการเงินก่อน หรือสั่งให้ บจ. ส่งมาก่อนล่วงหน้า เราต้องรู้พร้อมกับคนทั่วไป เพราะถ้ารู้ก่อนจะมีความผิดเป็น Insider ยกเว้นเกิดปัญหาเหตุรุนแรง มีความจำเป็น หน่วยงานที่มีอำนาจทำได้คือ สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีความสั่งให้ STARK ทำ Special Audit ก่อนที่บริษัทฯ จะส่งงบการเงินปี 2565 เข้ามา”

 

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังร่วมมือทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากหุ้น STARK กับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เพื่อฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ร่วมทำงานกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) พิจารณาแนวทางการฟ้องร้อง อีกทั้งตรวจสอบการกระทำความผิดของผู้เกี่ยวข้องในการเปิดเผยข้อมูลร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. จนปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับ STARK  เป็นคดีพิเศษ

 

ผุดเครื่องมือใหม่ตรวจจับ บจ. แต่งบัญชี

 

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือ Simple Detection เพื่อใช้ตรวจสุขภาพงบการเงินของหุ้นรายตัวเบื้องต้น หรือตรวจหาหุ้นที่มีงบการเงินเข้าข่ายสงสัยว่าจะมีการตกแต่งบัญชี คล้ายกับเครื่องมือในต่างประเทศที่ใช้ในการตรวจจับหากพบแนวโน้มในการตกแต่งบัญชีของ บจ. โดยเครื่องมือนี้จะหาความสัมพันธ์ทั้งใน 3 งบการเงินของ บจ. ได้แก่

 

  1. งบกระแสเงินสด
  2. งบกำไร-ขาดทุน
  3. งบดุล

 

เบื้องต้นเครื่องมือนี้จะมีการนำมาทดสอบใช้กันเองภายในหน่วยงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนใช้เตือนเพื่อ Alert การกำกับดูแลภายในก่อน โดยใช้งบการเงินของ บจ. ที่ส่งเข้ามาอยู่แล้วเป็นรายไตรมาส มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวเลขในงบการเงิน และทำโมเดลทุกบริษัท เพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวเลขของงบการเงิน ตรวจหาความเสี่ยงของโอกาสที่จะมีการตกแต่งงบการเงินที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือเป็นการนำข้อมูลของงบการเงินในอดีต เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในปัจจุบัน หากพัฒนาเครื่องมือนี้เสร็จคาดว่าจะสามารถทำให้การทำงานเป็นแบบ Automatic และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคาดว่าจะพัฒนาได้เสร็จภายในสิ้นปี 2566

 

หากผลทดสอบเสร็จแล้วเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ก็จะเผยแพร่ไปให้นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนทั่วไปนำไปใช้ต่อ โดยเครื่องมือ Simple Detection ตรวจสุขภาพงบการเงินของหุ้นรายตัวนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มพัฒนามาแล้วสักระยะ เพียงแต่กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นของ STARK เร่งให้เครื่องมือนี้เกิดเร็วขึ้น

 

สำหรับเครื่องมือที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพัฒนานี้ เป็นการดำเนินงานนอกเหนือจากการปรับกระบวนการทำงานภายในให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น มีการออกคำเตือน หรือ Alert ที่เร็วขึ้นหากพบข้อมูลหุ้นรายตัวที่การซื้อ-ขายมีความผิดปกติ เพื่อเตือนให้นักลงทุนนำข้อมูลที่ทันสถานการณ์ไปใช้ประกอบการพิจารณาในการลงทุน

 

ขณะที่หลังเกิดปัญหา STARK ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการและประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ

 

1. การทบทวน Positioning ของ SET และ mai โดยปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน เพื่อยกระดับบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai โดยปรับปรุงตามตัวอักษรสีน้ำเงิน ดังนี้

 

 

2. การยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและยกระดับการเตือนผู้ลงทุน โดยเพิ่มการเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย ‘C’ (Caution) และเพิ่มความเข้มงวดในการเพิกถอนบริษัทที่มีปัญหา ดังนี้

 

 

3. การปรับปรุงเกณฑ์ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงการยกเลิกและปรับปรุงเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบัน

 

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเตรียมที่จะประกาศออกใช้เป็นเกณฑ์ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X