ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน กำลังหมดเวลาลงเรื่อยๆ ในการดำเนินการด้านการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ หลังจากที่ไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ จนเพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มูลค่ามหาศาลของบริษัท
ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ไชน่า เอเวอร์แกรนด์มีข่าวลบที่เซอร์ไพรส์ตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงตั้งแต่การประกาศยกเลิกการประชุมเจ้าหนี้รายใหญ่ในนาทีสุดท้าย โดยอ้างว่าบริษัทต้องการพิจารณาทบทวนแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทใหม่ การควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารจัดการเงินของทางการจีน และการขาดคุณสมบัติตามกฎระเบียบในการออกหุ้นกู้ใหม่
ขณะที่แถลงการณ์ของบริษัทระบุชัดว่า เนื่องจากมีการสอบสวนอย่างต่อเนื่องในบริษัท เหิงต้า เรียล เอสเตท กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ทำให้เอเวอร์แกรนด์ขาดคุณสมบัติในการออกหุ้นกู้ใหม่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จนเกิดผลกระทบครั้งใหม่ต่อแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหิงต้า เรียล เอสเตทเปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีนได้เข้ามาตรวจสอบบริษัท เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าอาจกระทำการละเมิดกฎระเบียบด้านการเปิดเผยข้อมูล
รายงานระบุว่า ปัญหาล่าสุดที่เอเวอร์แกรนด์กำลังเผชิญในขณะนี้มีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเซินเจิ้นได้จับกุมตัวพนักงานหลายคนในหน่วยธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นเอเวอร์แกรนด์ร่วงลงอย่างหนักในช่วงเวลาดังกล่าว และสะท้อนให้เห็นว่า เอเวอร์แกรนด์กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าในด้านต่างๆ นอกเหนือไปจากปัญหาหนี้สินมูลค่ามหาศาล
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดส่งผลให้หุ้นของเอเวอร์แกรนด์ร่วงมากถึง 24% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 กันยายน) โดยขณะนี้เอเวอร์แกรนด์ถือเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน และบริษัทกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันในการสรุปพิมพ์เขียวแม่แบบสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ในต่างประเทศ เนื่องจากต้องต่อสู้กับกองหนี้สินรวมที่ใหญ่กว่า มูลค่า 2.39 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ในโลก
ปัจจุบันเอเวอร์แกรนด์อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งรวมถึงการตัดขายสินทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 3.40 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน เอเวอร์แกรนด์ก็กำลังตกอยู่ในช่วงเวลานับถอยหลัง โดยบริษัทต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีในวันที่ 30 ตุลาคม ณ ศาลฮ่องกง เกี่ยวกับคำร้องขอเพิกถอน ซึ่งอาจนำไปสู่การบีบบังคับให้เอเวอร์แกรนด์ต้องเลิกกิจการ
ทั้งนี้ วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนดูจะยังไม่จบลงง่ายๆ โดยนอกจากไชน่า เอเวอร์แกรนด์แล้ว ล่าสุดไชน่า โอเชียนไวด์ (China Oceanwide) นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติจีน เพิ่งได้รับคำสั่งศาลประเทศเบอร์มิวดาให้เลิกกิจการกับบริษัท เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 กันยายน) พร้อมแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชั่วคราวร่วมกัน (JPL) ในเบอร์มิวดา 2 คน และในฮ่องกง 1 คน เพื่อมาดูแลเรื่องการจัดการทรัพย์สินและชำระบัญชี โดยการฟ้องร้องมีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2022
การตัดสินใจดังกล่าวของศาลเบอร์มิวดายังส่งผลให้หุ้นของไชน่า โอเชียนไวด์ ในตลาดฮ่องกง ถูกสั่งระงับการซื้อ-ขายทันที และตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงระบุว่า หุ้นของบริษัทจะยังคงระงับการซื้อ-ขายจนกว่าจะมีความคืบหน้าใดๆ ต่อไป
มรสุมของไชน่า โอเชียนไวด์ ทั้งหมด ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้บริษัทมีรายได้เป็นศูนย์ เมื่อเทียบกับรายได้ของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 28.02 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และมีการขาดทุนสุทธิ 709.10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 1.16 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และมีหนี้สินอยู่ถึง 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง
อ้างอิง: