×

Teqball กีฬาจากการทดลองบนโต๊ะปิงปองฮังการีสู่ห้องซ้อมของทีมชาติบราซิล

18.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • Teqball คือกีฬาที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2013 โดย กาโบร์ บอร์ซานี อดีตนักฟุตบอลอาชีพ
  • กีฬา Teqball เป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่หลายคนมาร่วมสนุกและทดลองเล่นในการประชุมสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ ‘สปอร์ต แอคคอร์ด 2018’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-20 เมษายน
  • พงษ์ศักดา จันริสา นักกีฬาตะกร้อเยาวชน สังกัดมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่ได้ร่วมทดลองเล่น Teqball เผยว่ากีฬานี้มีความคล้ายคลึงกับตะกร้อ และเชื่อว่าหากมีพื้นฐานตะกร้อ คนไทยก็จะสามารถทำความคุ้นเคยกับ Teqball ได้อย่างรวดเร็ว
  • มาตี ซอลกา นักฟุตบอลอาชีพจากฮังการีที่ค้าแข้งอยู่ในเนเธอร์แลนด์กับสโมสรฟุตบอลทเวนเต้ และเป็นนักกีฬา Teqball เผยว่ากีฬานี้ช่วยให้เขาพัฒนาความไว การสัมผัสบอล และการตัดสินใจ ซึ่งช่วยในการเล่นฟุตบอลได้เป็นอย่างดี

หลายคนอาจจะคุ้นกับภาพของกีฬาชนิดนี้ผ่านโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะยูทูบ ที่ได้มีการนำโต๊ะที่มีรูปร่างเหมือนโต๊ะปิงปอง แต่มีลักษณะโค้งงอ และมีนักฟุตบอลสองฝั่งใช้ทักษะฟุตบอลเดาะบอลข้ามไปมา เหมือนการนำกีฬาทั้งฟุตบอลและปิงปองมาผสมกัน

แต่ภายในการประชุมสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ ‘สปอร์ต แอคคอร์ด 2018’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-20 เมษายน ที่เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ THE STANDARD ก็ได้พบกับกีฬานี้อย่างเป็นทางการ

 

โดยกีฬาชนิดนี้มีชื่อว่า Teqball คิดค้นโดย กาโบร์ บอร์ซานี อดีตนักฟุตบอลอาชีพชาวฮังการี เมื่อปี 2013 ด้วยลักษณะที่โดดเด่นและน่าทดลองเล่น โต๊ะ Teqball ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับโต๊ะปิงปองนี้จึงเป็นที่สนใจ และเป็นหนึ่งในไฮไลต์ภายในโซน Exhibition ของสปอร์ต แอคคอร์ด ในครั้งนี้

 

THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ เกรก มูรานิ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ Teqball ซึ่งเขาได้เผยถึงจุดเริ่มต้นของกีฬานี้ที่มีจุดกำเนิดเมื่อปี 2013 ที่ประเทศฮังการี

 

“เราเริ่มต้นพัฒนาโปรเจกต์นี้ตั้งแต่ปี 2013 แต่เริ่มเปิดตัวสู่สาธารณะเมื่อปี 2014 ไอเดียแรกเริ่มจาก กาโบร์ บอร์ซานี อดีตนักฟุตบอลอาชีพชาวฮังการี เพราะในวัยเด็ก เขาและเพื่อนๆ ได้เล่นเกมนี้บนโต๊ะปิงปองปกติในฮังการี ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กหลายๆ คนชอบทำ แต่แล้วกาโบร์ก็ได้ไอเดียว่าถ้าเราทำโต๊ะโค้งงอให้ลูกบอลเด้งไปหาคนเล่นล่ะ เพราะทุกครั้งที่เล่นบอลบนโต๊ะปิงปอง ลูกบอลจะชอบติดอยู่กลางโต๊ะ เราจึงเริ่มต้นใช้โต๊ะโค้ง

“ซึ่งโต๊ะนี้เราไม่ได้แค่ลองทำโต๊ะที่มีลักษณะโค้งตั้งแต่ต้น แต่เราได้ร่วมกับ Budapest University of Technology and Economics และพวกเขาก็ได้ออกแบบโต๊ะด้วยองศาที่พอดีสำหรับเกมนี้”

 

โดยกฎกติกาการเล่นมี 2 รูปแบบคือแบบเดี่ยวกับแบบคู่ นักกีฬาสามารถใช้ส่วนหนึ่งของร่างกายเดาะบอลได้ 2 ครั้งก่อนจะต้องใช้ส่วนอื่นเล่นต่อ ซึ่งทั้งประเภทเดี่ยวและคู่ นักกีฬาสามารถโดนบอลได้เพียง 3 จังหวะเท่านั้น

 

ซึ่งในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ สิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้นคือการได้เห็นกีฬาเซปักตะกร้อในประเทศไทย ด้วยเทคนิคการเล่นและความสามารถในการกระโดดเตะลูกตะกร้อ ทำให้พวกเขาอยากเห็นสิ่งที่นักกีฬาตะกร้อไทยสามารถนำมาปรับใช้กับกีฬา Teqball ได้

 

“เราตื่นเต้นมากที่ได้เห็นเซปักตะกร้อ กีฬาที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เราอยากเห็นนักกีฬาตะกร้อนำเอาเทคนิคมาใช้ในกีฬาของเรา เราเห็นภาพไฮไลต์ตะกร้อ การกระโดดตีลังกาเตะ เราจินตนาการมาตลอดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเขามาเล่น Teqball

 

https://www.youtube.com/watch?v=llV2ZUTMZRA

 

ซึ่ง มาตี ซอลกา นักฟุตบอลอาชีพจากฮังการีที่ค้าแข้งอยู่ในเนเธอร์แลนด์กับสโมสรฟุตบอลทเวนเต้ หนึ่งในนักกีฬาที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ในฐานะนักกีฬา Teqball ก็ไม่รอช้าที่จะไปเชิญชวนนักกีฬาตะกร้อจากบูธเซปักตะกร้อซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพวกเขามาทดลองเล่นด้วยกัน

 

“ผมอยากเห็นมานานแล้วว่าตะกร้อจริงๆ เป็นอย่างไร เพราะในฮังการีไม่มีตะกร้อให้เห็นเลย แต่วันนี้เราก็มาได้เห็นของจริง และได้มีโอกาสเห็นเขาเล่น Teqball ด้วย ซึ่งเขาใช้เวลาไม่นานก็สามารถปรับตัวเข้ากับเกมได้ ผมสนุกมากวันนี้

 

“ผมคิดว่านักกีฬาตะกร้อไทยจะเป็นนักกีฬา Teqball ที่ดีเลย พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นนิดหน่อย แต่ไม่เกิน 5 นาทีพวกเขาก็น่าจะเล่นได้ดีเลยละ” มาตีได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงความรู้สึกหลังได้ทดลองเล่นกับนักตะกร้อไทย

 

 

ขณะที่ พงษ์ศักดา จันริสา นักกีฬาตะกร้อเยาวชน สังกัดมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี วัย 19 ปี ก็ยอมรับว่าใช้เวลาไม่นานในการทำความเข้าใจเกม และยอมรับว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกมากที่ได้ทดลองเล่นเกมนี้

 

“สนุก เพราะเรามีพื้นฐานจากตะกร้อมาอยู่แล้ว ก็เล่นได้ไม่ยากครับ มีความคล้ายกับตะกร้อเยอะครับ ผมคิดว่าถ้าได้เล่นกีฬานี้เราคงได้ไหวพริบ ได้ฝึกจังหวะมากขึ้น แต่ก็ไม่ต่างกับตะกร้อมากครับ”

 

 

โดยกีฬา Teqball นั้นเริ่มต้นเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2014 ก่อนที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2017 ก็ได้จัดการแข่งขัน Teqball World Cup ครั้งแรก ซึ่งมีชาติเข้าร่วมทั้งหมด 20 ประเทศ นอกจากนี้ เกรก มูรานิ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ Teqball ยังได้เผยกับ THE STANDARD ว่าสมาคมฟุตบอลฮังการีได้จัดซื้อโต๊ะ Teqball ไปทั้งหมด 600 โต๊ะ เพื่อมอบให้กับสโมสรฟุตบอลทั่วประเทศ เนื่องจากมองว่าเป็นอุปกรณ์ในการช่วยเสริมสร้างทักษะให้กับนักฟุตบอล โดยใช้พื้นที่น้อย และผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถร่วมเล่นได้

นอกจากนี้ เกรกยังได้เผยว่าเป้าหมายของ Teqball คือการได้รับการบรรจุเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในอนาคต โดยขั้นตอนแรกในเวลานี้คือรอการรับรองจากทาง สหพันธ์สมาคมกีฬานานาชาติ หรือไกส์ฟ ในช่วงเวลาอีกไม่กี่วันนี้

 

สำหรับโต๊ะ Teqball ขณะนี้มีทั้งหมด 2 รูปแบบคือ Teqball One สำหรับการแข่งขันอาชีพ ซึ่งจะไม่สามารถพับเก็บได้ และมีราคาถูกกว่าที่ 2,000 ยูโร หรือประมาณ 77,000 บาท ขณะที่อีกแบบคือ Teqball Smart ที่สามารถพับเก็บได้และทำจากวัสดุที่เบากว่า โดยมีราคาอยู่ที่ 2,500 ยูโร หรือประมาณ 96,000 บาท ซึ่งเกรกก็ยอมรับว่าสินค้าของพวกเขามีราคาสูง แต่ในอนาคตก็วางแผนที่จะทำสินค้าที่มีราคาถูกลงเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงกีฬาชนิดนี้ได้มากขึ้น

 

แม้จะถูกมองว่า Teqball อาจยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่ากีฬาอาชีพที่หลายคนคุ้นเคย แต่ไม่ว่าพวกเขาได้รับการบรรจุเข้าสู่ชนิดกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิกในอนาคตหรือไม่ สิ่งที่หนึ่งที่เขาสามารถทำได้ไม่แพ้กีฬาชนิดอื่นๆ คือการนำพาผู้คนมาแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน โดยภายในงานสปอร์ต แอคคอร์ด ครั้งนี้ เราได้เห็นโต๊ะ Teqball ทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X