วันนี้ (24 กันยายน) วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะทาบทามเข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ว่าขอบพระคุณมากที่ยังนึกถึง ซึ่งงานที่ทำเป็นงานใหญ่ ใช้เวลาและยุ่งยาก และข้อสำคัญอยู่กับความเห็นที่แตกต่างที่อาจจะเกิดความขัดแย้ง
“ผมพ้นออกมาจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกลับไปเป็นบุคคลสาธารณะอีก เพราะการไปทำงานนี้คือไปเป็นบุคคลสาธารณะอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ก็สบายอกสบายใจอยู่แล้ว” วิษณุกล่าว
ส่วนจะมาขอคำแนะนำเป็นบางครั้งบางคราว วิษณุบอกว่า ก็ยินดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่บ้างก็คือรัฐมนตรีหน้าเก่าๆ ที่เคยอยู่ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคุ้นเคยกันอยู่ก็โทรมาสอบถามว่าสมัยนั้นสมัยนี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ถามว่าควรจะทำอย่างไร เพราะท่านตัดสินใจเองได้ รวมถึงถามเรื่องในอดีต อาทิ มติ ครม. เก่าๆ ซึ่งก็มีคนโทรมาถามทุกวัน
วิษณุยังกล่าวแสดงความเห็นแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญว่า ให้เขาคิดกันเอง เพราะมันยุ่งยากซับซ้อน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ควรจะหลบหลีกการทำประชามติหลายครั้ง และตนเห็นด้วยกับแก้ไขเป็นรายมาตรา ทีละหลายๆ มาตราก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้แต่เพียงว่าในกรณีที่เป็นการแก้ไขหมวด 1 ทั่วไป, หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และหมวด 15 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่องการแก้ไขอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขององค์กรอิสระ ซึ่งกระทบกับเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตรงนี้ต้องทำประชามติเมื่อแก้ไขเสร็จวาระ 1, 2 และ 3 ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะฉะนั้นเก็บไว้ทำคราวหลังได้หรือไม่
วิษณุยังแนะนำถึงการแก้ไขที่ควรทำว่า ให้แก้ไขหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการ, หมวด 4 หน้าที่ของรัฐ, หมวด 5 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย, หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ, หมวด 7 รัฐสภา ซึ่งแก้ได้ตามใจชอบ ไม่ต้องทำประชามติ, หมวด 8 คณะรัฐมนตรี, หมวด 9 ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน, หมวด10 เรื่องศาล เรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด
เมื่อถามว่า การทำประชามติควรทำครั้งเดียวตอนเสร็จแล้วใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ที่ต้องทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ ถ้าแก้มาตรา 256 ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องทำประชามติ ก็จะไม่ต้องทำประชามติ แต่การจะแก้หนแรกในเรื่องมาตรา 256 ต้องทำประชามติก่อน ถึงจะลบล้างเรื่องประชามติไปได้
วิษณุกล่าวต่อว่า พอเสร็จวาระ 1-3 ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป จะไม่ได้เจอเรื่องทำประชามติ แต่ถ้าแก้ตามแนวทางของรัฐบาลก็ต้องทำประชามติ ซึ่งก็คือ 1. คุณก็ต้องทำประชามติแก้ทั้งฉบับว่าเห็นด้วยหรือไม่ 2. ต้องตั้ง สสร. และ 3. ถ้า สสร. ต้องไปทำประชามติทั้งประเทศอีก ซึ่งการทำประชามติครั้งหนึ่งประมาณ 3 พันล้านบาท จึงต้องแก้ที่มาตรา 256 ซึ่งอาจไม่ผ่าน เพราะต้องผ่านความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เขาก็กลัวว่าจะไปแก้อะไรต่อมิอะไรกัน อย่างไรก็ตาม การทำประชามติควรทำอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ เริ่มแก้ไขและตอนจบที่จะไปประกาศใช้