สภาอุตสาหกรรมยานยนต์ขอประเมินทิศทางเศรษฐกิจอีก 1 เดือน ก่อนปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2566 ใหม่ หลังยอดผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศมีโอกาสสูงที่จะพลาดเป้า 850,000 แสนคัน เผย 8 เดือน ยอดขายในประเทศลดลง 11.69% เหตุสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ หนี้เสียคนไทยพุ่ง สวนทางการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดปีนี้ยอดจดทะเบียน EV แตะ 70,000 คัน อีกทั้งยังลุ้นรับอานิสงส์ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เยือนสหรัฐอเมริกา หารือ Tesla มาลงทุนในไทย
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การผลิตรถยนต์สำเร็จรูปรวมทุกประเภทเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 150,657 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.27%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขณะที่ 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2566) พบว่าสัดส่วนการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศก็ลดลงเช่นกัน จากเป้าหมายการผลิตที่ตั้งไว้ปีนี้อยู่ที่จำนวน 1,900,000 คัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 850,000 คัน ผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน
หากพิจารณายอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือนสิงหาคม 2566 แล้วอยู่ที่ 60,234 คัน พบว่ายอดลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 11.69% เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากภาระหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงสูงขึ้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกปีนี้มียอดขาย 524,784 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.21%
จากตัวเลขดังกล่าว ส.อ.ท. จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อีก 1 เดือน อาจมีความจำเป็นต้องปรับเป้าหมายการผลิตปี 2566 ซึ่งอาจไม่ถึงเป้าที่วางไว้ แต่จะมากน้อยเพียงใดจะต้องพิจารณาจากมาตรการภาครัฐที่เริ่มกระตุ้นการลดค่าครองชีพประชาชน ทั้งค่าไฟ ราคาน้ำมัน และอื่นๆ
นอกจากนี้ หากดูรายละเอียดยอดขายพบว่า 8 เดือนแรก รถยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE มียอดขายที่ 429,126 คัน ลดลง 16.46% สวนทางรถยนต์กลุ่มไฟฟ้ากลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกประเภท ทั้งชนิดแบตเตอรี่ (BEV) ไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) และไฮบริด (HEV)
“หากจำกันได้ ที่ผมเคยคาดการณ์ไว้ว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้าปี 2566 จะอยู่ราว 40,000 คัน ตอนนี้เกินเป้าหมายแล้ว น่าจะไปถึง 60,000-70,000 คัน” สุรพงษ์กล่าว
ลุ้นดีล Tesla มาลงทุนไทย
สุรพงษ์กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ล้วนต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด และไทยผลิตในประเทศแค่ 100 กว่าคันเท่านั้น ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเร่งประกาศมาตรการ EV 3.5 เพื่อความต่อเนื่อง และผลักดันอุตสาหกรรมให้เกิด Eco Sysystem ในประเทศให้สำเร็จ เมื่อเกิดความชัดเจนต่อผู้ใช้รถ การลงทุนโรงงาน และการผลิตแบตเตอรี่ EV ก็จะตามมาอีกมาก เกิดการลงทุนตลอดซัพพลายเชนและเกิดอุตสาหกรรมใหม่ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากล่าช้าค่ายรถอาจต้องรอจนกว่าจะเริ่มผลิตในประเทศคืนด้วยสัดส่วน 1 ต่อ 1 ในปี 2567 จึงจะได้เงินสนับสนุนอีกครั้ง ดังนั้นขณะนี้หลายค่ายก็ส่งสัญญาณมายัง ส.อ.ท. ให้ฝากถึงรัฐบาลเร่งพิจารณาก่อนมาตรการจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม
พร้อมขอให้ภาครัฐปลดล็อกเงื่อนไขการติดตั้งสถานีชาร์จ เพื่อให้เอกชนสามารถติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ให้มากขึ้น สร้างบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ นวัตกรรมใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ไฮเทค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณดีที่เห็นการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการที่เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อประชุมและได้ใช้โอกาสครั้งนี้เชิญชวนบริษัทชื่อดังหลายรายมาลงทุนในไทย ทั้งหมดนี้คือโอกาสสำคัญที่จะยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ทำให้คนไทยเกิดการจ้างงาน และมีรายได้สูงขึ้น หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
“เราก็ลุ้นและหวังว่าในอนาคตหาก Tesla ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะยิ่งส่งผลดีอย่างมากต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่องในฐานะดีทรอยต์แห่งรถยนต์สันดาปเอเชีย เพราะตัวเลขยอดจดทะเบียน EV และการลงทุนก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าคนไทยใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และปรับเปลี่ยนการบริโภค และค่าใช้จ่ายมาใช้ EV ส่วนหนึ่งอาจเพราะราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับยานยนต์ไฟฟ้าที่อาจจะคุ้มค่ามากกว่า ตอบโจทย์มากกว่า” สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย