ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการไฟจากฟ้า พลังงานสะอาดเพื่อ 77 โรงพยาบาลทั่วไทย Clean Energy for Life โดยโครงการนี้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว ด้วยการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตั้งเป้าหมายติดตั้งโซลาร์เซลล์ 77 โรงพยาบาล ให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และได้เปิดรับบริจาคผ่านแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ต้องการร่วมสมทบทุนและส่งเสริมให้โรงพยาบาลได้ใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งสามารถเลือกได้ว่าจะบริจาคให้กับโรงพยาบาลใดที่ต้องการ เริ่มต้นคนละ 77 บาท หรือตามกำลังที่มี และเมื่อปิดรับบริจาคได้เงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 231 ล้านบาท
“ตอนนี้สำหรับโครงการไฟจากฟ้าที่เป็นโครงการนำร่องได้ดำเนินการติดตั้งไปได้แล้ว 9 จังหวัด เนื่องจากเงินที่ได้จากการรับบริจาค 231 ล้านบาทไม่เพียงพอต่อการติดตั้งได้ครบทั้ง 77 โรงพยาบาล จึงปรับมาใช้วิธีการใหม่ ด้วยการใช้เงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (4) สนับสนุนตรงไปยังกระทรวงสาธารณสุข มอบให้โรงพยาบาลละ 3 ล้านบาท จำนวน 68 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 100 กิโลวัตต์ และเมื่อ 68 โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสำเร็จ ก็จะมีการขยายผลสนับสนุนงบประมาณในระยะต่อไป” ดร.บัณฑูรกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ครบทั้ง 68 โรงพยาบาลใน 68 จังหวัด ภายในปี 2567 โดยจะเริ่มทยอยติดตั้งปลายปีนี้ และเริ่มจากโรงพยาบาลที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งโครงการนี้ให้ประโยชน์ทางตรงคือโรงพยาบาลลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้า ผลต่อเนื่องคือนำเงินที่ลดได้ไปใช้เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วย เกิดเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เข้ามารักษา นำไปซื้อเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้น และยังได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการที่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจะมีมุมมองและความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพลังงานที่เปลี่ยนไป มีความเข้าใจเรื่องพลังงานมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมการประหยัดพลังงานมากขึ้น และผลต่อเนื่องสุดท้ายคือจากความรู้ความเข้าใจนี้ จะเกิดการต่อยอดเป็นการเผยแพร่ในวงกว้างได้อีก
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
‘ไฟจากฟ้า’ ให้ความรู้คู่รักษ์โลก
ดร.บัณฑูรกล่าวด้วยว่า แนวคิดที่ทำ ‘โครงการไฟจากฟ้า’ เพราะวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (5) คือการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และสร้างการมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า โดยให้ความรู้ผ่านสื่อหรือกิจกรรมต่างๆ ว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์มีประโยชน์ สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างไร แล้วนำไปสู่ความตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใช้พลังงานสะอาด เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้มากกว่านี้แล้ว ต้องปรับเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาดให้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็มีศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งเองที่บ้าน หรือจะเริ่มต้นด้วยการบริจาคการติดตั้งโซลาร์รูฟให้โรงพยาบาล เป็นต้น
ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะเร่งส่งเสริมโครงการที่ต่อยอดจากโครงการนี้ โดยมุ่งเรื่องพลังงานสะอาดกับการลดปัญหา Climate Change เพราะทุกคนรู้แล้วว่า Climate Change กระทบต่อทุกภาคส่วน เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว ภัยพิบัติ โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน เพราะฉะนั้นภาคพลังงานจะเข้าไปมีส่วนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ก็จะรณรงค์ไปสู่ความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเห็นว่าตอนนี้ประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องพลังงานสะอาดมากขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีการประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน เรื่องของ Net Zero การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเริ่มเข้าใจถึงความจำเป็นของพลังงานสะอาดมากขึ้น
“พลังงานสะอาดตอนนี้ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดในระดับประเทศ ระดับโลก คนรุ่นต่อไปสำคัญมากที่จะต้องเข้ามาร่วมเรียนรู้ ร่วมผลักดันให้พลังงานสะอาดเกิดมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่ต้องอยู่กับโลกที่จะรอดพ้นจากปัญหา Climate Change” ดร.บัณฑูรกล่าว
พญ.มาลี สิริสุนทรานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไทรน้อย
ยกระดับคุณภาพการให้บริการคนไข้จากเงินค่าไฟที่ลดได้จากโซลาร์
สำหรับโรงพยาบาลไทรน้อย เป็น 1 ใน 77 โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการไฟจากฟ้า และได้รับเงินบริจาคจากประชาชนเพื่อมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งถือเป็นอีก 1 โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเห็นได้จากการที่มีการต่อยอดโครงการจากระยะ 1 ไปยังระยะที่ 2 และเตรียมขยายไปยังระยะที่ 3 เร็วๆ นี้
พญ.มาลี สิริสุนทรานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไทรน้อย กล่าวว่า โรงพยาบาลได้เข้าร่วมโครงการไฟจากฟ้าของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเมื่อปี 2564 และจากการรับบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้าใช้เองในโรงพยาบาลในช่วงเวลากลางวัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 100,000 หน่วยต่อปี สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณ 20% หรือประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน หลังจากนั้นโรงพยาบาลก็ได้ต่อยอดทำโครงการระยะที่ 2 จากเงินบริจาคของชาวบ้าน กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 100 กิโลวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารใหม่ และจะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 3 โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะใช้ในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งเป็นช่วงที่โรงพยาบาลมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak)
“พลังงานสะอาดเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราแต่มีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้โรงพยาบาลเกิดการประหยัด 100 กิโลวัตต์แรก ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 50,000 บาท แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 200 กิโลวัตต์ ก็สามารถประหยัดไปได้ถึงเดือนละ 100,000 บาท หรือลดการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 20% ต่อเดือน และนำเงินส่วนนั้นมาใช้ในการดูแลบริหารจัดการโรงพยาบาลและคนไข้แทน” พญ.มาลีกล่าว
ดร.บัณฑูรกล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้จะทำให้โรงพยาบาลทั้ง 77 แห่งได้ประโยชน์เหมือนกัน คือประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าได้มาก สามารถนำงบประมาณส่วนที่ประหยัดไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น เป็นทุนการศึกษาของพยาบาลให้ได้เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น มีความชำนาญเฉพาะด้านมากขึ้น และนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้และประชาชนในพื้นที่ต่อไป”
โรงพยาบาลไทรน้อยสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์