×

จีนเผชิญปัญหาเงินทุนไหลออกหนักสุดรอบ 8 ปี! เดือนเดียวหาย 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังมรสุมรุมเร้า กดดันหยวนอ่อนค่าต่อ

19.09.2023
  • LOADING...
เงินหยวน

จีนกำลังเผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี สร้างความวิตกให้กับทางการจีน เนื่องจากเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าต่อเนื่อง

 

เงินหยวนกำลังถูกทุบจากหลายด้าน หลังเงินทุนหลั่งไหลออกจากตลาดการเงินของจีน ขณะที่บริษัทระดับโลกก็กำลังมองหาทางเลือกอื่นๆ นอกจากจีน และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในต่างประเทศกระทบต่อการค้าบริการของจีน (Services Trade)

 

ตามข้อมูลของทางการจีนแสดงให้เห็นว่ามีกระแสเงินทุนไหลออกจากจีนจำนวน 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม นับเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2015 โดยจำนวนนี้ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นเงินที่ไหลออกจากการลงทุนในหลักทรัพย์

 

การไหลออกของเงินทุนรอบนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐอเมริกาที่กว้างขึ้น ซึ่งผลักดันให้เงินหยวนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี เมื่อวันที่ 8 กันยายน ท่ามกลางความเสี่ยงที่เงินหยวนอาจอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้ความน่าดึงดูดของตลาดลดลง และส่งผลให้เกิดการไหลออกที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินไม่มั่นคงขึ้นได้

 

นอกจากนี้รัฐบาลปักกิ่งยังเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ราวๆ 5% ในปีนี้ ท่ามกลางตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ย่ำแย่และการส่งออกที่ตกต่ำ โดยการถือครองพันธบัตรรัฐบาลจีนของนักลงทุนต่างชาติก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีในเดือนสิงหาคมด้วย ท่ามกลางการแห่ทิ้งหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเดียวกันด้วย ส่วนการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ก็ลดลงสู่การขาดดุล 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเลวร้ายสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016

 

มากไปกว่านั้น จีนยังประสบปัญหาการขาดดุลการค้าบริการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางไปต่างประเทศแซงหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือน แม้ว่าจีนจะยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิดต่างๆ ไปแล้วก็ตาม

 

เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงมากกว่า 5% ตั้งแต่ต้นปี นับเป็นสกุลเงินตลาดเกิดใหม่เอเชียที่อ่อนค่ามากที่สุด รองจากริงกิตของมาเลเซีย

 

“อย่างไรก็ตาม การไหลออกของเงินทุนอาจชะลอตัวลงบ้างเนื่องจากเศรษฐกิจจีนเริ่มแสดงสัญญาณของเสถียรภาพ แม้ว่าส่วนใหญ่การไหลออกของเงินนี้จะขึ้นอยู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และจีน (PBOC) ก็ตาม” Edmund Goh ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้เอเชียของ abrdn กล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X