วานนี้ (18 กันยายน) ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พร้อมด้วย พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (รรท.ผบก.ทล.) และคณะเจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดีการเสียชีวิตของ พ.ต.ต. ศิวกร สายบัว สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ถูกยิงเสียชีวิตภายในบ้านของ ประวีณ จันทร์คล้าย หรืออดีตกำนันนก ร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าทางคดีและวางกรอบแนวทางการทำงาน
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ซึ่งใช้เวลานานร่วม 3 ชั่วโมง พล.ต.ท. จิรภพกล่าวว่า หลังเกิดเหตุ ตำรวจสอบสวนกลางได้ร่วมทำการสืบสวนกับทีมชุดคลี่คลายคดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจภูธรภาค 7 มาโดยตลอด ได้พยานหลักฐานพอที่จะทราบว่าใครทำอะไรในที่เกิดเหตุระดับหนึ่ง
ปัจจุบันมีการรับโอนสำนวนคดีมาอยู่ในความรับผิดชอบแล้ว 2 คดี ประกอบด้วยคดีฆาตกรรม และความผิดตามมาตรา 157 ส่วนที่โอนสำนวนคดีมาที่กองปราบฯ พล.ต.ท. จิรภพกล่าวย้ำว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล มีความซับซ้อน และเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ ซึ่งเป็นหน้างานของกองปราบฯ อยู่แล้ว ตำรวจท้องที่อาจทำงานแบบนี้ลำบาก จึงจำเป็นต้องให้ส่วนกลางทำเพื่อความโปร่งใส
ส่วนเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหากับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในงานเลี้ยง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 นั้น พล.ต.ท. จิรภพกล่าวว่า ก่อนหน้ามีการแจ้งข้อกล่าวหากับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ให้การช่วยเหลือผู้กระทำผิดไปแล้ว 6 นาย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบให้แน่ชัด อาจต้องใช้เวลาสักระยะ แต่จะเร่งทำให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ต้องยึดหลักข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานเป็นที่ตั้ง เพราะกฎหมายมาตรา 157 มีคำนิยาม หรือมีเจตนาพิเศษ ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องหารือกันพอสมควร ว่าพฤติกรรมแค่ไหนถึงเรียกว่าผิดมาตรา 157
อาทิ บางคนอาจพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล บางคนอาจโทรแจ้ง 191 หรือบางคนอาจไม่ทำอะไรเลย ซึ่งต้องขอเวลาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายให้ตกผลึกก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่อยากด่วนสรุป ซึ่งเมื่อใดที่ทราบข้อเท็จจริง หรือหาข้อยุติทางกฎหมายได้แล้วจึงจะสามารถพิจารณาออกหมายจับ
พล.ต.ท. จิรภพกล่าวต่อว่า กรณีของผู้กำกับรายหนึ่ง ซึ่งจังหวะแรกไม่มีการช่วย ก่อนที่จังหวะสองจะมาปรากฏตัวที่โรงพยาบาล แต่การจะตัดสินว่าเป็นความผิดมาตรา 157 หรือไม่ ต้องขอดูละเอียดอีกให้แน่ชัดก่อน
ส่วนกรณีของ ร.ต.อ. จตุรวิทย์ ชวาลเกียรติธนา รองสารวัตรป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยประคองคนเจ็บ ก่อนต่อมาจะปรากฏภาพว่าหลังเกิดเหตุได้ไปขับรถนำขบวนคุ้มกันให้กับอดีตกำนันนกนั้น ต้องแยกเป็นสองส่วน ในส่วนช่วยก็ถือว่าดี แต่ส่วนที่ไปช่วยผู้ต้องหาก็ต้องถือว่าผิด ทั้งนี้ยืนยันไม่มีการช่วยเหลือใคร ไม่ว่าจะยศใด หากผิดดำเนินการเต็มที่ ไม่มีละเว้น
ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิดพื้นที่เกิดเหตุที่มีทั้งหมด 15 ตัว เสีย 2 ตัว และอีกหนึ่งตัวซึ่งเป็นกล้องตรงจุดเกิดเหตุ พบว่าหยุดบันทึกไปตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ก่อนจะเกิดเหตุ พล.ต.ท. จิรภพระบุว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด ส่วนกล้องที่เหลือทั้งหมดส่วนตัวได้ตรวจดูบางส่วนแล้ว แต่เนื่องจากรายละเอียดมีค่อนข้างเยอะมาก จึงต้องขอเวลาในการพิจารณาอย่างละเอียดให้ครบทั้งหมดก่อน
“ถึงแม้ว่าจะไม่มีภาพบันทึกขณะเกิดเหตุได้ ก็ไม่ได้หนักใจแต่อย่างใด เพราะมีพยานหลักฐานอื่นๆ เช่นคำให้การ พยานบุคคล พยานแวดล้อม มูลเหตุจูงใจ และอื่นๆ อีกมากมาย เพียงพอที่จะดำเนินคดีอดีตกำนันนกให้ถึงที่สุดได้ ส่วนข้อสงสัยที่กระแสสังคมเชื่อว่ามีการเตรียมการลวงผู้ตายมาก่อเหตุนั้น จากข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่เชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้” พล.ต.ท. จิรภพกล่าว
พล.ต.ท. จิรภพกล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินการต่อจากนี้ เบื้องต้นวางกรอบการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
- การขยายผลแก๊งคนร้าย เส้นทางการเงิน ข้อมูลออนไลน์ และสิ่งผิดกฎหมาย
- ดูเรื่องการฮั้วประมูล เพื่อพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าเพราะเหตุใดทำไมอดีตกำนันนกถึงชนะการประมูลได้รับงานโครงการต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้เราพบความผิดปกติหลายอย่าง อาทิ ชนะการประมูลงานมากกว่าร้อยละ 80 และ อื่นๆ อีกมากมาย
- เร่งปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่ใช่แค่ระดมกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมายแล้วเลิก แต่จะต้องตัดวงจรทั้งเครือข่าย ยึดทรัพย์ ซึ่งเป็นแนวทางที่กองปราบฯ ทำมาโดยตลอด