จากกรณีที่กรมสรรพากรออกประกาศเตรียมเริ่มเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเงินได้หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศกับนักลงทุน แม้ว่าจะนำเงินได้จากการลงทุนกลับเข้ามาในปีภาษีอื่นๆ ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย จากเดิมจะคำนวณเก็บภาษีเฉพาะเงินที่นำกลับเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) กล่าวว่า การเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทุกคนที่นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อหลังจากนี้คือหลักเกณฑ์ในการเก็บภาษีจะเป็นอย่างไร และข้อมูลที่จะใช้พิจารณาจะมีเพียงพอหรือไม่
“จริงๆ ไม่ค่อยเห็นด้วย ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าภาษีดังกล่าวจะคิดจากกำไร หรือคิดจากเม็ดเงินทั้งหมดที่จะนำกลับเข้ามาในประเทศ ถ้าเป็นการคิดภาษีจากกำไรยังพอรับได้ เพียงแต่จะมีข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ว่าเงินเหล่านี้เป็นส่วนของต้นทุนเท่าไรและกำไรเท่าไร”
ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องความพร้อมของข้อมูล บางครั้งอาจมีการนำเงินทุนกลับมาแค่บางส่วนจะคำนวณอย่างไร หรือหากเป็นการลงทุนในหุ้นหลายตัวมีทั้งตัวที่กำไรและขาดทุน หากนำเงินเฉพาะส่วนที่ขายขาดทุนกลับเข้ามาจะพิสูจน์ได้อย่างไร
“นักลงทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศถูกกระทบแน่นอน และรุนแรงมากด้วย บางคนอาจไม่คิดจะนำเงินกลับ แทบจะปิดเกมเรื่องการออกไปลงทุนต่างประเทศเลย”
นอกจากนี้ ดร.นิเวศน์มองว่า หากภาษีดังกล่าวเป็นการเก็บในอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งอาจสูงได้ถึง 35% ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนแทบจะไม่สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้เลย
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า หากเกิดขึ้นจริงอาจเป็นการเร่งให้มีการไถ่ถอนเงินลงทุนบางส่วนที่อยู่ต่างประเทศให้เข้ามาในประเทศเร็วขึ้นตั้งแต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มโอกาสที่ปริมาณเงินในระบบ (M2) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการขยายตัวทำจุดต่ำสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง อาจกลับมาขยายตัวมากขึ้นอีกครั้ง และช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทย