วันนี้ (16 กันยายน) สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขกฎหมายและคำสั่ง รวมถึงคณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งมาในสมัยรัฐบาล คสช. ว่า ขออย่ามองว่าเป็นการสังคายนา ตนมองว่าเป็นการชี้แนะจากนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับคณะกรรมการที่มี 174 คณะ และคำสั่งคณะ คสช. หากกระทรวงไหนมองว่าคำสั่งดังกล่าวล้าสมัยไปแล้วก็สามารถปรับแก้หรือแจ้ง ครม. ให้ยกเลิกได้เลย หากเป็นมติคณะรัฐมนตรี แต่หากเป็นคำสั่ง คสช. ที่เป็นพระราชบัญญัติ ต้องนำไปพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก
ส่วนจะถือว่าตนรับผิดชอบดูแลเรื่องกฎหมายได้เลยหรือไม่นั้น สมศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้เรียนจบด้านกฎหมายมาแต่เข้าใจงาน ไม่ใช่ว่ารองนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่รู้ว่ากฎหมายไหนที่เสียสมดุลหรือล้าสมัยไปแล้ว เพราะมีผู้ที่ชำนาญในการร่างกฎหมายให้อยู่แล้ว ในฐานะ สส. ก็เสนอว่าต้องการประเด็นนี้หรือไม่ต้องการก็เท่านั้น
สมศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ นสพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์ โฆษกรัฐบาลไม่ได้เป็นนักกฎหมาย แต่เป็นนายสัตวแพทย์ จึงขอเวลาให้ท่านปรับตัว เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจง่าย หน้าที่ของโฆษกรัฐบาลไม่ต้องลงรายละเอียดลึก แต่หากผู้สื่อข่าวไปถามแบบลึกๆ ท่านก็จะตอบลึก ก็จะยุ่งอยู่เหมือนกัน ดังนั้นขอให้เรียนรู้กันไป 1-2 สัปดาห์น่าจะเข้าที่เข้าทาง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของโฆษกรัฐบาลหรือไม่ สมศักดิ์กล่าวว่า ท่านเป็นคนมีความสามารถ คนเก่ง ชอบสร้างความชัดเจนและความกระจ่างให้กับสื่อมวลชน ซึ่งจะไม่เหมือนตนที่ส่วนใหญ่มักจะยอมแพ้สื่อมวลชน