รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังประมาณการว่า มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 31 ธันวาคม 2566 จะฉุดรายได้รัฐบาลหายไปราว 1.5 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (13 กันยายน) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 31 ธันวาคม 2566
พร้อมทั้งระบุอีกว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งกลไกในการช่วยให้ราคาน้ำมันปรับลดลงเหลือไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่วนการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินนั้น ขณะนี้ยังรอการพิจารณาอยู่
ขณะที่ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประมาณการว่า มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลครั้งนี้จะทำให้รายได้หายไป 1.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงระยะเวลาที่มีผลบังคับใช้
กฤษฎาเปิดเผยอีกว่า การจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2566 เกินเป้าหมายกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากได้รายได้พิเศษเพิ่มมาประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การเก็บภาษีที่เกินเป้าส่วนหนึ่งยังมาจากเศรษฐกิจในปีนี้ที่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว
ทั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุดที่ปรากฏบนเว็บไซต์กระทรวงการคลังระบุว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (เดือนตุลาคม 2565 – กรกฎาคม 2566) อยู่ที่ 2,148,820 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 150,899 ล้านบาท หรือ 7.6% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ กรมสรรพากร โดยเฉพาะจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา