หากมองเข้าไปในพอร์ตร้านอาหารของ CRG ที่มีกว่า 20 แบรนด์ มีจำนวนสาขารวม 1,580 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2566) จะพบว่า ไม่ได้มี ‘ร้านอาหารเกาหลี’ อยู่ในนี้เลย ทั้งที่ตลาดร้านอาหารเกาหลีมีมูลค่าราว 3 พันล้านบาท และยังมีแนวโน้มการเติบโตได้อีกมาก
เบื้องหลังมาจากความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง กระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลีและอาหารเกาหลียังเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
ทำให้ในที่สุด CRG ตัดสินใจบุกร้านอาหารเกาหลีเป็นครั้งแรกด้วยการจับมือร่วมทุน (Joint Venture: JV) กับบริษัท คีอานิ จำกัด เปิดตัวแบรนด์ใหม่ คีอานิ (Kiani)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รอได้เลย! ‘CRG’ เตรียมนำ ‘ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ’ ร้านระดับ Top 3 ของญี่ปุ่น เปิดปลายปีนี้ แย้มปีหน้าเล็งเปิดอีก 2-3 แบรนด์ใหม่ รับกระแสเกาหลีฟีเวอร์
- CRG ทุ่มขยายร้าน KFC อีก 30 แห่ง รองรับธุรกิจฟื้นตัว แย้มปี 66 เตรียมจำหน่ายแอลกอฮอล์ในสาขาทัวริสต์
- CRG ส่ง ‘นักล่าหมูกระทะ’ ชิมลางตลาดปิ้งย่าง! เน้นขยายในห้าง เคาะขายเป็นชุดเริ่มที่ 279 บาท ปีนี้วางแผนขยายอีก 4 สาขา
“เรามองว่า แบรนด์ คีอานิ (Kiani) มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากและช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตโฟลิโอของ CRG” ธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Japanese & Korean Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าว
สำหรับคนทั่วไปชื่อของร้านคีอานิอาจจะไม่คุ้นหูมากนัก แต่ในความเป็นจริงร้านเปิดมาได้เกือบ 10 ปีในย่านทองหล่อ จากร้านที่มีแค่เพียง 1 ห้อง ตอนนี้ได้ขยายเป็น 3 ห้อง โดยเมนูทั้งหมดเป็นสูตรจากแม่เจ้าของร้านที่เปิดในปูซาน
การจับมือในครั้งนี้จะเป็นการขยายจากแบรนด์ที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านทองหล่อให้ขึ้นห้าง โดย CRG ระบุว่า สำหรับแผนการขยายธุรกิจ นั้นได้เล็งขยายสาขา และการพัฒนาสินค้าในรูปแบบต่างๆ รวมถึงต่อยอดร้านในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
รวมถึงมองหาโอกาสในการขยายเข้าไปในศูนย์การค้าเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปีหากสถานการณ์ปกติจะสามารถขยายสาขาได้ต่อเนื่อง
เบื้องต้นนั้นประเดิมสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทำเลศักยภาพ ด้วยเป็นศูนย์รวมผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีอาคารสำนักงาน และการเดินทางสะดวกสบาย สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 CRG มีรายได้ 6,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 701 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 4 แบรนด์หลัก มีอัตรา (SSS) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 7% และแบรนด์อื่นเติบโต 3% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 226 ล้านบาท