สภาอุตสาหกรรมฯ จ่อยื่นหนังสือถึงเศรษฐา แก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น-กลาง-ยาว ดูแลวิกฤตพลังงาน ขอ ธปท. ตรึงดอกเบี้ยที่ 2.25% คุมต้นทุนผู้ประกอบการ หลังดัชนีความเชื่อมั่นเดือนสิงหาคมต่ำสุดในรอบปี ส่งออกไม่ช่วย พร้อมจับตาการทำงานรัฐบาลผสม เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลายข้อ ทั้งค่าแรงและพลังงาน พร้อมแนะนโยบาย Digital Wallet 4 ข้อถึงเศรษฐา ให้ฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายก่อนออกแบบนโยบาย และควรปิดจุดอ่อน อุดรูรั่ว เพิ่มจุดแข็งให้ดี ยังพอมีเวลา
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. เตรียมจัดทำข้อเสนอ (Position Paper) ถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางและการปฏิบัติ พร้อมเร่งรัดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยลงลึกรายละเอียดแต่ละด้าน รวมถึงการดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาด้านราคาพลังงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- วิเคราะห์ ‘ลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า’ นโยบายว้าวุ่นที่เกาไม่เคยถูกที่คัน?
- ส่องดีกรี 9 รัฐมนตรี ‘กระทรวงเศรษฐกิจ’ รัฐบาลเศรษฐา 1 ใครเป็นใคร มีฝีมือด้านใดกันบ้าง
- เศรษฐกิจไทยอ่อนแอเกินคาด ‘กกร.’ ฝากความหวังที่การท่องเที่ยว หนุนรัฐบาลเปิดฟรีวีซ่าจีน เร่งอัดฉีดค่าครองชีพ หลังหั่น GDP ทั้งปีลงเหลือ 3%
โดยขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลถึงแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ไทยนำเข้าน้ำมันไทยแพงขึ้น และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวยิ่งกดดันราคาน้ำมันตลาดโลกให้ขยับขึ้น ซึ่งมีโอกาสแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคมนี้
“ส่วนนโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีแบบไม่มีค่าการกลั่นนั้น ควรศึกษาถึงข้อดีและผลกระทบที่จะตามมาให้รอบด้านก่อน ทางที่ดีคือควรผ่าตัดโครงสร้างทั้งระบบเพื่อแก้ไขแบบยั่งยืน ส่วนเรื่องค่าไฟ ที่ผ่านมา ส.อ.ท. เรียกร้องให้ค่าไฟฟ้าลดลงอยู่ที่ 4.25 บาทต่อหน่วย ซึ่งค่าไฟงวดปัจจุบันเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะให้ของขวัญแก่ประชาชน ถ้ายิ่งต่ำกว่านี้ก็ยิ่งดี” เกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อจัดตั้งรัฐบาลและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว สิ่งที่เอกชนอยากได้คือความยั่งยืน โดยราคาพลังงานของไทยควรอยู่ในจุดที่แข่งขันได้ ไม่ใช่ต้องมาคุยแก้ไขกันบ่อยๆ ซึ่ง ส.อ.ท. จะทำการบ้านอย่างละเอียดเป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณา โดยจะหาโอกาสพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเพื่อทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมต่ำสุดรอบ 1 ปี
สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 92.3 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันต่ำสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง
และเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า มีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะเอลนีโญ ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม
ผู้ประกอบการกังวลนโยบายขึ้นค่าแรงและพลังงาน
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.5 ลดลงจากเดือนก่อนคาดการณ์ที่ 100.2 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 และผู้ประกอบการยังกังวลนโยบายที่อาจกระทบต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน
“ดังนั้นระหว่างนี้ ส.อ.ท. เสนอแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% ต่อปี รวมถึงกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ “
ทั้งนี้ ขอให้เร่งรัดโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ดำเนินการลงทุนตามที่ได้รับอนุมัติ และจัดกิจกรรมโรดโชว์เชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนด้วย
ขณะเดียวกันเสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พร้อมทั้งกระตุ้นธุรกิจ SMEs
Digital Wallet ยาแรง
เกรียงไกรกล่าวอีกว่า หลังจากรับฟังการแถลงและอภิปรายในสภาของนายกรัฐมนตรี ต่อนโยบาย Digital Wallet แล้วมองว่าเข้าใจในแง่โครงการตามหลักเศรษฐศาสตร์ ที่เข้าใจได้ว่ามีจุดประสงค์เพื่อต้องการจุดประกายและฉุดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้เคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งเป็นยาแรงที่กระชากทีเดียว ขณะเดียวกันความท้าทายที่ตามมาต้องจับตา 4 ข้อ คือ
- การใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท จะเป็นอย่างไร
- การใช้เงินก้อนนี้จะมาจากไหน การใช้งบประมาณจะเป็นภาระการคลังหรือไม่ เป็นโจทย์ที่คนวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความกังวลค่อนข้างมาก
- บล็อกเชนจะได้ผลสัมฤทธิ์จริงหรือไม่
- ข้อจำกัดในการใช้เงินภายในระยะรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร จะมีสินค้า/ร้านค้าตอบสนองประชาชนได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้เป็นคำถามเดียวกับทุกคน
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายแล้ว ทีมงานรัฐบาลคงต้องนำข้อกังวลเหล่านี้ไปแก้โจทย์และออกแบบนโยบายที่สามารถตอบสนอง
“ควรมีจุดอ่อนให้น้อยที่สุด ปิดจุดรั่ว เพิ่มจุดแข็งให้ได้มากที่สุด อะไรที่กังวลสงสัยต้องแก้ ยังมีเวลา เพราะต้องใช้เวลาหลายเดือนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งบางแห่งไม่มีบริการรองรับ ต้องออกแบบเฉพาะ นโยบายนี้เป็นการบ้านใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐา” เกรียงไกรกล่าว