รัฐบาลหาช่องทางระดมเงินใช้ทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล ลือหึ่งกระทรวงการคลังเล็งขายกองทุนวายุภักษ์ให้ กบข.-ประกันสังคมรับซื้อ ด้านนายกฯ เศรษฐา ประกาศดีเดย์ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เริ่มใช้ 1 กุมภาพันธ์ 2567
แหล่งข่าวในตลาดทุนกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันกองทุนรวมวายุภักษ์ที่ได้ปรับสถานะเป็นกองทุนเปิดตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งในเชิงของหลักการ กระทรวงการคลังมีโอกาสและสามารถขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์เพื่อเปลี่ยนมือให้หน่วยงานภาครัฐอื่นมาถือแทนได้ เนื่องจากกองทุนรวมวายุภักษ์กำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า นักลงทุนที่จะมาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์จะต้องเป็นนักลงทุนสถาบันหรือหน่วยงานจากภาครัฐเท่านั้น เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนประกันสังคม
โดยวิธีการดังกล่าวอาจนำมาเตรียมไว้สำหรับใช้เป็นแหล่งเงินสำหรับการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แม้การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลยังมีทางเลือกอื่นๆ ในการหาแหล่งเงินเพื่อดำเนินนโยบาย Digital Wallet ที่จะใช้ในปีหน้าก็ตาม โดยมีการประเมินว่ารัฐบาลน่าจะเก็บช่องการกู้ยืมเงินไว้สำหรับรองรับการลงทุนในโครงการภาครัฐอื่นๆ ที่มีความจำเป็น
“จุดประสงค์หลักของกองทุนรวมวายุภักษ์เป็นการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการความมั่งคั่งของหน่วยงานรัฐ การขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์ที่คลังถืออยู่ สามารถเป็นเครื่องมือบริหารสภาพคล่องหรือเงินในกระเป๋าของกระทรวงการคลังได้ แต่ต้องติดตามดูว่ามูลค่าหน่วยลงทุนที่คลังถืออยู่หลักแสนล้านบาทซึ่งถือว่าสูงมากนั้น จะถูกขายออกมาเท่าไร แล้วหน่วยงานภาครัฐไหนที่จะมารับซื้อหน่วยลงทุนต่อ และจะมีสภาพคล่องเพียงพอมารับซื้อหรือไม่ เพราะใช้เงินค่อนข้างมาก ธุรกรรมนี้จะคล้ายกับการทำรายการ Big Lot หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่ผลกระทบกับตลาดหุ้นจะมีไม่มาก เพราะเป็นการเปลี่ยนมือจากเดิมที่กระทรวงการคลังเคยถือหน่วยลงทุน มาเป็นให้หน่วยงานรัฐอื่นมาถือหน่วยลงทุนแทน”
ด้านปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวกระทรวงการคลังจะขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์มูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ดำเนินนโยบาย Digital Wallet นั้น น่าจะเป็นความเห็นที่มาจากนักวิชาการ โดย สคร. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกองทุนรวมวายุภักษ์ ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีนโยบายหรือยังไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าว ส่วนในเชิงของหลักการจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่นั้น ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้
ส่วนชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย หรือ KTAM ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ยังไม่ทราบข้อมูลที่กระทรวงการคลังจะขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์ และปัจจุบันกระทรวงการคลังยังไม่ได้มีการนำเสนอส่งมูลที่เกี่ยวข้องมาที่ KTAM และขอยังไม่แสดงความเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้
ล่าสุดวานนี้ (5 กันยายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย ประจำสัปดาห์ โดยประกาศว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะเริ่มใช้ได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 และยืนยันเป็นการแจกเงินหนเดียว