บรรดารัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลอาจยื่นเอกสารร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ต่อกรณีการตัดสินใจของรัฐบาลจีนที่ห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่น หลังมีการปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล
รายงานระบุว่า ซานาเอะ ทาคาอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงของเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณามาตรการรับมือต่อข้อจำกัดการนำเข้าที่กำหนดโดยจีน โดยหมายรวมถึงการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก หากการประท้วงผ่านช่องทางการทูตเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันทางด้าน โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นภายใต้กรอบของ WTO ก่อนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารอย่างใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ของกันและกันไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเลแล้ววันนี้ นักวิชาการชี้ไม่กระทบปลาไทย ยังกินได้ปกติ
- จีนแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด หลังปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
พร้อมกันนี้ ฮายาชิยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนยกเลิกการห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทันที หลังจากที่ข้อกำหนดดังกล่าวเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่นานนักหลังจากที่ศูนย์นิวเคลียร์เริ่มปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยฮายาชิชี้ว่า การกระทำของจีนนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและจีนในฐานะมหาอำนาจเอเชีย ต่างฝ่ายต่างขัดแย้งกันในเรื่องความปลอดภัยของน้ำที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011 ทำให้เกิดความตึงเครียดกับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของญี่ปุ่นกับจีน ที่มีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจมีความมั่นคง
รายงานระบุว่า การปล่อยน้ำถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการรื้อถอนโรงงานแห่งนี้ โดยเริ่มต้นหลังจากที่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศสรุปในรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า แผนดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทั่วโลก ก่อนย้ำว่า นิวไคลด์กัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นไอโซโทป จะถูกกำจัดออกจากน้ำก่อนจะปล่อยออกมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ และกำหนดคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลเพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพของผู้คน
จีนยังได้ห้ามผู้ประกอบการผลิตอาหารไม่ให้ซื้อหรือใช้อาหารทะเลที่มีต้นกำเนิดในญี่ปุ่นมาแปรรูปเพื่อจำหน่าย
ทั้งนี้ รัฐบาลกลางและท้องถิ่นของญี่ปุ่น และผู้ดำเนินการโรงงานบริษัท โตเกียว อิเล็คทริค พาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ อิงค์ ย้ำว่า ไม่พบปริมาณไอโซโทปที่ตรวจพบได้ในตัวอย่างน้ำทะเลที่นำมาจากบริเวณที่ใกล้กับฟุกุชิมะคอมเพล็กซ์
นอกเหนือจากจีนแล้ว ขณะนี้รัฐบาลของฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งเป็นภูมิภาคกึ่งปกครองตนเองของจีน ได้สั่งห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะและอีก 9 จังหวัดอื่นๆ โดยที่มาเก๊ายังได้สั่งห้ามรายการอาหารอื่นๆ อีกมากมายจากพื้นที่ดังกล่าวด้วย
อ้างอิง: