นักวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยผลการศึกษาฉบับใหม่ที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง หลังพวกเขาพบว่าในช่วงปี 2022 มีลูกเพนกวินจักรพรรดิในแอนตาร์กติกาต้องตายมากถึงราว 10,000 ตัวด้วยกัน
โดยสาเหตุเป็นเพราะว่าแผ่นน้ำแข็งอันเป็นที่อาศัยของพวกมันละลายตัวและแตกหักออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างรวดเร็วจากภาวะโลกรวน ทำให้ลูกเพนกวินจักรพรรดิวัยอ่อนๆ ซึ่งร่างกายยังไม่โตพอที่จะพัฒนาขนที่สามารถกันน้ำได้ตามธรรมชาตินั้น ทยอยจมน้ำอันหนาวเหน็บและแข็งตาย
ดร.ปีเตอร์ เฟรตเวลล์ จากสำนักงานสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ (BAS) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาวิจัยฉบับนี้ ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหมือนกับ ‘ลางบอกเหตุ’ ของสิ่งที่จะมาเยือนในอนาคตข้างหน้า
เฟรตเวลล์และคณะได้เก็บรวบรวมข้อมูลของอาณานิคมเพนกวินจักรพรรดิ 5 แห่งในพื้นที่ทางตะวันตกของแอนตาร์กติกา ซึ่งอยู่ติดกับทะเลเบลลิงส์เฮาเซิน (Bellingshausen Sea) โดยใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อเฝ้าติดตามกิจกรรมต่างๆ ของเพนกวิน โดยดูจากมูลที่พวกมันขับถ่ายทิ้งไว้บนธารน้ำแข็ง เพราะจุดสีน้ำตาลที่ตัดกับแผ่นน้ำแข็งสามารถมองเห็นได้แม้จะเก็บภาพจากดาวเทียมที่อยู่บนอวกาศก็ตาม
โดยปกติแล้วเพนกวินจะผสมพันธุ์ วางไข่ ฟักไข่ และดูแลให้อาหารลูกของมันในช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคมของทุกปี ก่อนที่ลูกเพนกวินจะโตพอที่จะออกไปใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับช่วงฤดูหนาวของซีกโลกใต้ แต่คณะนักวิทยาศาสตร์พบว่า ธารน้ำแข็งมีการละลายตัวหรือแตกตัวออกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกเพนกวินนับหมื่นตัวยังไม่โตพอที่จะพัฒนาขนที่กันน้ำได้ ส่งผลให้ลูกเพนกวินน้อยต้องจมน้ำตายหรือแข็งตายในบริเวณนั้นๆ
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Biology เมื่อเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งระบุว่า พืชและสัตว์ถึง 65% ในแอนตาร์กติกา รวมถึงเพนกวินจักรพรรดิ อาจตายหมดภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากมนุษย์ยังไม่ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ในโอกาสนี้ เฟรตเวลล์ได้เรียกร้องให้ผู้คนที่ได้รับทราบผลการศึกษานี้ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ “เรายังมีความหวัง เราสามารถลดการปล่อยคาร์บอนที่เป็นตัวการของภาวะโลกรวนได้ แต่หากไม่ทำเช่นนั้น สัตว์ที่สวยงามเหล่านี้ก็เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์”
แฟ้มภาพ: Francois LOCHON / Gamma-Rapho via Getty Images
อ้างอิง: