ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดงาน Thailand Focus ครั้งที่ 17 ภายใต้ธีม The New Horizon บนเวที The Next S-Curve of Thai Tourism เพื่อประเมินแนวโน้มการท่องเที่ยวไทยซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจประเทศ พร้อมพูดคุยแนวทางการเดินหน้าเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ในปี 2023 นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเข้ามาได้ถึง 30 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 25 ล้านคน
ทั้งนี้ ภายหลังจากการระบาดของโควิด เทรนด์นักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับ Wellness Tourism มากขึ้น นอกจากนี้ Sustainable Tourism เป็นอีกหนึ่งในเทรนด์การท่องเที่ยวที่ไทยจะได้ประโยชน์ หากเราสามารถปรับการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้
โดยข้อมูลจาก Expedia เปิดเผยถึงความตื่นตัวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 94% กำลังมองหาตัวเลือกการท่องเที่ยวที่สนับสนุนความยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนของพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นๆ
มากไปกว่านั้น ความน่าสนใจคือ 2 กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนและอินเดีย มีความยินดีที่จะจ่ายราคาสูงขึ้นจากปกติถึง 40% และ 44% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย (28%), ญี่ปุ่น (25%) และค่าเฉลี่ยทั่วโลก (38%) หากรู้ว่าพวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และ 70% ของนักท่องเที่ยวยังเลือกที่จะเสียสละความสะดวกสบายเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ
นอกจากนี้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยังทำงานร่วมกับ 19 มหาวิทยาลัยเพื่อร่วมโปรโมตการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และผลักดันให้จังหวัดต่างๆ เช่น น่าน สุโขทัย เลย และตราด เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อกระจายรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง และเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้อีกด้วย
นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก กล่าวว่า การป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งโรคเครียดจากความกดดันในปัจจุบัน เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2020 ที่ 71% เป็น 74% ในปี 2022 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสังคมผู้สูงอายุที่จะทำให้ความต้องการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ในปี 2019 ขนาดมูลค่าตลาดของ Global Wellness มีสูงถึง 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นประมาณ 10% ในปี 2020-2025 ทำให้ธุรกิจด้านสุขภาพไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วของโรงพยาบาลอีกต่อไป แต่ยังขยายไปถึง Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวที่รวบรวมประโยชน์ทางสุขภาพไว้ในทุกๆ Touchpoint ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารสุขภาพ การฟื้นฟูร่างกายและดูแลจิตใจ และการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน โดยค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทต่อคนต่อทริป
ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำให้ประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในผู้นำและมีจุดแข็งของภาคการบริการสามารถใช้โอกาสนี้เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นได้ จากประสบการณ์ที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 12.5 ล้านคนต่อปีมาแล้วก่อนโควิด
ด้าน ลัชชิดา อาภาพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่สายงานยุทธศาสตร์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยังมองว่า ส่วนที่ต้องพัฒนาเพื่อจะยกระดับการท่องเที่ยวไทยคือ การขยายระบบคมนาคมทั้งในการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานในหัวเมืองรอง และการคมนาคมระหว่างสนามบินไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ ให้สะดวกสบายและง่ายกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนประเด็นสุดท้ายคือความตกลงระหว่างประเทศในการเพิ่มโควตาวีซ่าให้มากขึ้น