วันนี้ (16 สิงหาคม) ที่รัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวสืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีรัฐสภามีมติตีความว่า การเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เป็นญัตติและไม่สามารถเสนอซ้ำได้
วันมูหะมัดนอร์เผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 สิงหาคม) เวลา 14.00 น. จะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณารายละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงระเบียบวาระและญัตติของรัฐสภา จากนั้นประธานรัฐสภาจะประชุมกับวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 18 สิงหาคม เวลา 10.00 น. เพื่อหาข้อสรุป
วันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวด้วยว่า จะนัดการประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 สิงหาคม ตามที่ได้กำหนดและหารือกับประธานวุฒิสภาไว้แล้ว เนื่องจากเห็นว่าวันอังคารน่าจะสอดคล้องกับเวลาของทั้ง สส. และ สว. รวมถึงการออกหนังสือเรียกประชุมรัฐสภาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงญัตติของ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ทบทวนมติของรัฐสภาที่ตีความว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นญัตติที่ไม่สามารถเสนอซ้ำได้นั้น วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ญัตติดังกล่าวยังอยู่ในระเบียบวาระ ซึ่งต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายและในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า สส. จากพรรคก้าวไกล จะดำเนินการอย่างไร เพราะขั้นตอนดำเนินการต้องอยู่ในกรอบ
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) คาดหวังให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อนการลงมตินั้น ประธานรัฐสภาชี้แจงว่า ตนเองจะนำข้อเสนอไปหารือกับคณะทำงานด้านกฎหมายของรัฐสภาและตัวแทน 3 ฝ่ายก่อน และจะเตรียมขั้นตอนเผื่อไว้ทั้งในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น สส. และไม่ได้เป็น สส. แต่หากรัฐสภาเปิดโอกาสให้สามารถแสดงวิสัยทัศน์ได้ และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่ได้อยู่ในที่ประชุมฯ ก็จะไม่สามารถแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมได้อยู่ดี และเดิมทีในการยกร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2562 จะกำหนดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องแสดงวิสัยทัศน์ แต่คณะกรรมการยกร่างฯ ได้ตัดออกไป เพราะกังวลว่าในขณะนั้นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ จะเป็นบุคคลภายนอก ไม่ได้เป็น สส. ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น สส. ก็ได้
ดังนั้นข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนการแสดงวิสัยทัศน์ไว้ และเมื่อการเลือกในปี 2562 ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อก็ไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ด้วย
อย่างไรก็ตาม วันมูหะมัดนอร์ยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อควรแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม พร้อมทั้งยังหวังว่าในการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีตามกำหนดในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ จะเป็นไปอย่างเรียบร้อยและถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับการประชุม แต่ทั้งนี้ กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะเสร็จสิ้นหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา