โลกเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว พัฒนาการทางเทคโนโลยีสร้างให้เกิด Disruption ในทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจผันผวน ความเสี่ยงใหม่จากตัวเทคโนโลยีเอง เช่น การคุกคามทางไซเบอร์ หรือการมาของ AI ที่มนุษย์ยังไม่สามารถไขกระบวนการตัดสินใจของมันได้ รวมถึงปัญหาสังคมที่ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวมพุ่งสูงขึ้น
ความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จึงเป็นจุดริเริ่มต่อโจทย์สำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องคิดแผนรับมือกับความไม่แน่นอนทั้งในฝั่งของผู้บริโภคและระบบประกันภัยให้แข็งแรงต่อไป
สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เผยถึงการต่อยอดความสำเร็จในวงการประกันภัยจากปีก่อนว่า ในไตรมาสแรกของปี 2566 ธุรกิจประกันภัยเติบโต 4.81% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ล้ำสมัยอย่างเดียวไม่พอ ต้องยั่งยืนด้วย
สำนักงาน คปภ. และพันธมิตร ได้มองถึงแนวโน้มความเสี่ยงใหม่ๆ ในอนาคต จึงมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งของระบบประกันภัยไทยภายใต้แนวคิด InsurTech for Sustainability ที่ไม่เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดความยั่งยืนกับโลกอีกด้วย เช่น การออกกรมธรรม์ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อลดการใช้กระดาษ การนำ AI มาจัดการคำนวณค่าสินไหมทดแทนให้มีความโปร่งใส และการผลักดันให้บริษัทประกันภัยใส่ใจในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น
“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า บริษัทประกันภัยบางแห่งอาจยังไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน เราเห็นได้จากตัวอย่างประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ที่เน้นขายตามกระแส แต่เมื่อไม่มีเงินจ่าย ก็กลับยกเลิกโครงการอย่างกะทันหัน อย่างนี้เรียกว่าไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการเห็นคือธุรกิจประกันภัยที่นึกถึงลูกค้าเป็นหลัก เพราะเมื่อลูกค้าเชื่อมั่นแล้ว บริษัทประกันก็จะยืนอยู่ต่อไปได้” สุทธิพล เล่าถึงความพยายามที่ธุรกิจประกันจะมุ่งไปสู่ความยั่งยืน
การผสมผสานของเทคโนโลยีกับแนวคิดความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจประกันคือ ความสามารถในการออกผลิตภัณฑ์ที่แม่นยำผ่าน Big Data ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และช่วยให้บริษัทประกันควบคุมความเสี่ยงได้อย่างรอบคอบขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วแนวคิดความยั่งยืน ESG ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในตอนนี้มันไปเกี่ยวข้องกับประกันอย่างไร?
สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ฉายภาพให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของธุรกิจประกันภัยในแต่ละส่วนของ ESG ดังนี้
- Environment: เบี้ยกว่า 90% ที่บริษัทประกันบางแห่งได้ไป มีการนำเงินส่วนนั้นไปลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในบริษัทที่ส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน (Green Funding)
- Social: บริษัทประกันกำลังเพิ่มการเข้าถึงประกันภัยครอบคลุมกับคนทุกกลุ่ม ผู้ที่ไม่เคยมีประกันก็สามารถเข้าถึงบริการแบบ Micro Insurance ได้ด้วยเบี้ยที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมมากขึ้น
- Governance: การส่งเสริมความเท่าเทียมในที่ทำงานกับพนักงานทุกระดับ และควบคุมดูแลขั้นตอนการทำงานให้โปร่งใส
การผสมผสานของปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวนำวงการประกันภัยให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนทั้งในธุรกิจและสังคมได้
สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย
ประกันแบบนั้น…ใช่สำหรับฉันหรือเปล่า?
สาระ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมประกันภัยว่า “ทุกวันนี้ผมคิดว่าโลกเรามันกลับข้าง หรือผมเรียกว่า Outside In ในความหมายที่ว่าผู้บริโภคเห็นประโยชน์ของประกันและมีความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ประกันนั้นจะต้อง Personalized มากพอเหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่ต่างกันออกไป”
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน โดยเฉพาะความต้องการที่เฉพาะเจาะจงกับตัวบุคคลมากขึ้น การนำข้อมูลเข้ามาช่วยคิดค้นแบบแผนประกันที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ถึงระดับ Sub-Community จึงเป็นหัวใจหลักในการดึงลูกค้าเข้ามา
ตัวอย่างของ Sub-Community เช่น กลุ่มคนที่ขับรถ Big Bike ก็จะมีโปรไฟล์ความเสี่ยงที่เฉพาะตัวไม่เหมือนคนกลุ่มอื่น หรือการประกันความเสี่ยงสำหรับกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณที่มี PM2.5 หนาแน่น และอาจต้องการให้น้ำหนักของมูลค่าสินไหมไปโฟกัสที่โรคมะเร็งปอดมากกว่าตามแผนป้องกัน ‘โรคร้ายแรง’ ของผู้เอาประกัน ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ฉะนั้นโลกของประกันภัยในวันนี้ ‘จะไม่ใช่การขายอีกต่อไป แต่เป็นการแนะนำ’ ซึ่งการแนะนำที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้แบบเฉพาะตัวก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ที่จะทำไม่ได้เลยหากไม่มีเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ Big Data เข้ามาช่วย เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะไม่ใช่ One Size Fits All แต่เป็น Customize ให้ตรงตามสิ่งที่ผู้เอาประกันมองหา
สำหรับผู้ที่ยังมีคำถามว่าจะวางแผนป้องกันความเสี่ยงอย่างไร งาน ‘Thailand InsurTech Fair 2023’ ในวันที่ 8-10 กันยายนปีนี้ ณ ฮอลล์ 7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี อาจมีคำตอบรออยู่ เพราะงานนี้เป็นมหกรรมที่มีเทคโนโลยีประกันภัยหลากหลาย และครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดครั้งหนึ่ง