รถจักรยานยนต์และการเมาแล้วขับอาจจะเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งตลอดกาลของอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่รถบรรทุกหรือรถโดยสารขนาดใหญ่คือที่มาของอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายและสูญเสียจำนวนมาก
จากสถิติโดยหน่วยเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Thairoads) ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2559 รถบรรทุก 10,000 คันที่วิ่งสู่ท้องถนนในแต่ละวันจะมีอย่างน้อย 2,000 คันเกิดอุบัติเหตุ และในจำนวนนี้จะมีคนขับรถบรรทุกอย่างน้อย 50 คน ไม่ได้กลับไปหาครอบครัวอันเป็นที่รัก
เราอาจตำหนิพฤติกรรมของคนขับรถบรรทุกบางคนที่ขับรถด้วยความเร็วและประมาทหวาดเสียว แต่จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกประจำเดือนของกรมขนส่งทางบกพบว่า ‘การหลับใน’ จะสลับหมุนเวียนขึ้นมาเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งอยู่อย่างสม่ำเสมอ
สถิติล่าสุดช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลปีใหม่ 2561 ที่ผ่านมา มีรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุรวม 38 ครั้ง โดยมี ‘การหลับใน’ เป็นที่มา 5 ครั้ง
ฟังดูอาจจะน้อย แต่จากข้อมูลพบอีกว่าอุบัติเหตุครั้งใหญ่สุดเกิดจากคนขับหลับใน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 13 ราย
พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากการเร่งทำรอบของคนขับรถโดยสารสาธารณะ การทำงานแบบไม่หยุดพักมาขับรถแล้วเกิดหลับใน ได้สร้างความเสียหายทั้งครอบครัวและทรัพย์สินอย่างมหาศาล เพราะเวลาที่วูบหลับในเพียง 3-5 วินาที รถจะวิ่งโดยปราศจากการควบคุมกว่า 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางมีความเสี่ยงที่จะวิ่งไปชนประสานงากับรถคันอื่น ต้นไม้ เด็ก หรืออุบัติเหตุร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมาก
ทุกข์ของคนขับรถบรรทุก
พัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมแรงงาน เคยถ่ายทอดเรื่องราวของคนขับรถบรรทุกในหนังสือพิมพ์ มติชน เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เปิดเผยถึงระบบการจ้างงานของคนขับรถบรรทุกในไทย ซึ่งใช้ระบบเหมาค่าเที่ยวเพื่อประหยัดต้นทุน
ระบบนี้ผู้จ้างจะให้อิสระคนขับในการบริหารจัดการเวลาเอง แต่ด้วยค่าจ้างต่อเที่ยวที่ไม่สูง ระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตรเฉลี่ยตกเที่ยวละ 300-400 บาท ทำให้ต้องขับรถบรรทุกวันละ 3 เที่ยว หรือวันละ 14-16 ชั่วโมงจึงจะพออยู่ได้
ด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้แม้แต่คนขับรถบรรทุกที่ดีที่สุด ก็อาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุใหญ่ได้เมื่อเขาเกิดหลับใน
เมื่อเราหลับใน ถนนก็ไม่อยู่ในสายตา
การหลับในคือการหลับขณะที่ตาอาจยังเปิดอยู่ แต่ไม่รับรู้ภาพเบื้องหน้า อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่เกิน 10 วินาที
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนง่วงอย่าขับ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี พบว่า ในประเทศไทย ผู้ขับขี่มากกว่า 50% เคยหลับในขณะขับรถ ซึ่งอันตรายมาก
ในต่างประเทศมีทฤษฎีที่ชื่อว่า Heinrich Triangle Theory โดย ไฮน์ริช วิศวกรของ Travellers Insurance ในเมืองฮาร์ตฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมและประมวลสถิติจนเป็นทฤษฎีอธิบายการเกิดอุบัติเหตุ
ซึ่งสรุปคร่าวๆ คือ
- ทุกๆ 2 ล้านการกระทำที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการเล่นมือถือ การละสายตาจากถนน การหันไปหยิบของเบาะหลัง การกินข้าวขณะขับรถ การแต่งหน้าขณะขับรถ ฯลฯ
- ส่งผลให้เกิด 240,000 เหตุการณ์ที่เกือบเกิดอุบัติเหตุ
- ในจำนวนนี้มี 20,000 เหตุการณ์ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
- มี 400 เหตุการณ์ที่ได้รับบาดเจ็บมาก
- และในที่สุดจะมี 1 การเสียชีวิต
การค้นพบสาเหตุของอุบัติเหตุนำมาสู่การคิดค้นตัวช่วยเพื่อลดอุบัติเหตุและการสูญเสีย
ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาบนท้องถนนอย่างระบบ Guardian System
ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อตรวจจับและแจ้งเตือนการหลับใน และการละสายตาจากท้องถนน
Guardian ถูกสร้างขึ้นมาเป็นผู้ช่วยคนขับ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัทเพื่อตรวจจับใบหน้าและดวงตา รวมถึงวัดระดับการปิดของเปลือกตาและการเคลื่อนไหวของศีรษะ เพื่อบ่งชี้ว่าพนักงานขับรถหลับในหรือกำลังเสียสมาธิหรือไม่ เมื่อตรวจพบเหตุ Guardian จะเข้าแทรกแซงการหลับในหรือเสียสมาธิของพนักงานขับรถได้อย่างทันท่วงที โดยเสียงเตือนภายในห้องโดยสารและการสั่นเบาะที่นั่งจะทำงานในทันที เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่กลับมามีสมาธิกับท้องถนน ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนขับรถได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในเวลาที่เขาต้องการมากที่สุด จากการทดสอบพบว่าช่วยลดอัตราการหลับในได้ถึง 90% ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลง และช่วยให้อีกหลายชีวิตบนท้องถนนปลอดภัย
‘ง่วงไม่ขับ’ เป็นแคมเปญรณรงค์ที่เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะคำถามคือจะมีใครบ้างที่รู้ล่วงหน้าว่าตัวเองกำลังจะหลับใน
แต่มันจะดีแค่ไหนถ้ามีเทคโนโลยีมาช่วยเตือน และมันจะดีขึ้นอีกแค่ไหนถ้าจะมีเทคโนโลยีตัวนี้มาอยู่เตือนเป็นเพื่อนกับรถบรรทุกทุกคัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Guardian นวัตกรรมป้องกันการหลับในได้ที่ guardiansystem.in.th
อ้างอิง:
- รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ถึง 3 มกราคม 2561
- trso.thairoads.org/statistic/national/N-SPI-B/N-SPI-B1/N-SPI-B1-06
- trso.thairoads.org/statistic/national/N-SPI-B/N-SPI-B4/N-SPI-B4-02
- www.matichon.co.th/news/576809
- 40plus.posttoday.com/personalfinance/15774/
- www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/25697