×

มือชา…เป็นสัญญาณอันตรายของโรคอะไรได้บ้าง?

13.08.2023
  • LOADING...
มือชา

อาการชานั้นสามารถพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการชานั้นๆ ถ้าในกลุ่มที่ยังทำงาน หรืออายุ 30 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน สาเหตุส่วนมากมักเกิดจากปัญหาของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้มากที่สุด โดยมากอาการนั้นมักทำให้เกิดเพียงความปวด หรือรำคาญ และสามารถหายได้จากการพักการใช้งาน การทำกายภาพบำบัดหรือยืดกล้ามเนื้อ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่อาการนั้นๆ เป็นมากขึ้นจนลุกลามรุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตได้

 

รู้จัก 4 สาเหตุที่ทำให้เกิดมือชาในกลุ่มวัยทำงาน 

 

  1. กลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ (Myofascial Pain Syndrome: MPS) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อยที่สุด อาการของ MPS คือการปวดของกล้ามเนื้อที่ตึงเป็นก้อน Trigger Point ซึ่งในแต่ละกล้ามเนื้อที่เกิด Trigger Point จะมีบริเวณส่วนปลายที่สามารถไปแสดงอาการปวดหรือชาได้ เรียกว่า Referred Pain ตัวอย่างเช่น หากเกิด Trigger Point ในกล้ามเนื้อพื้นสะบัก (Infraspinatus Muscle) หรือกล้ามเนื้อในแขนบางมัด ก็สามารถทำให้มีอาการชาหนักๆ หน่วงๆ ที่ฝ่ามือได้ อาการนี้มักดีขึ้นด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ การนวด หรือการกินยาคลายกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายที่ถูกวิธีได้

 

  1. โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ (Cervical Disc Herniation) เป็นโรคที่มักเกิดในกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 30-50 ปี โดยเฉพาะที่ทำงานในลักษณะของการก้มอยู่ท่าเดิมนานๆ หรือมีการสะบัดขึ้นลงเป็นประจำ ระดับที่พบมากมักจะเป็นการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกมาระคายเส้นประสาทส่วนคอในระดับที่ 6 และ 7 ซึ่งทำให้มีอาการนำคืออาการที่ฝ่ามือส่วนนิ้วโป้งถึงนิ้วกลางได้ บางคนอาจมีอาการชาไปที่ท้องแขน หรือมีอาการปวดที่ต้นคอและบ่าร่วมด้วย บางครั้งการก้มหรือหันคออาจทำให้มีอาการปวดร้าวจากคอลงมาที่แขนได้ โดยทั่วไปโรคนี้สามารถหายได้โดยการทำกายภาพบำบัดและไม่ต้องผ่าตัด แต่หากไม่ได้รับการรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมือและแขนได้ 

 

  1. กลุ่มอาการอุโมงค์ข้อมือ หรือพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท หรือ Carpal Tunnel Syndrome เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และในอายุเฉลี่ย 40-60 ปีขึ้นไป ซึ่งมักเป็นในอาชีพที่มีอาการใช้ข้อมือซ้ำๆ เป็นเวลานานจนทำให้เส้นเอ็นรอบข้อมือที่พาดเต็มวงคล้ายอุโมงค์ข้อมือหนาตัวขึ้น จนไปกดทับเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ที่พาดลอดผ่านอุโมงค์นี้เพื่อไปรับความรู้สึกที่ฝ่ามือได้ ทำให้เกิดอาการชาฝ่ามือที่นิ้วโป้งไปจนถึงนิ้วนางครึ่งนิ้ว (บางครั้งอาจสามารถรู้สึกทั้งฝ่ามือได้) โดยทั่วไปอาการจะสร้างความรำคาญเท่านั้น แต่หากไม่ได้รับการรักษา ปล่อยไว้เป็นเวลานานก็จะแย่ลงได้ เช่น มีอาการชามากขึ้นจนปวด หรือมีอาการอ่อนแรงกำของไม่ได้ หรือการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อนิ้วโป้งตามมาได้

 

  1. สาเหตุอื่นๆ เช่น การขาดสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะวิตามิน B1, B6, B12 ฯลฯ การอักเสบของปลายประสาทที่มือที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน หรือในบางครั้งความตึงเครียด การพักผ่อนน้อย ก็สามารถทำให้เกิดอาการชาตามส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงมือได้ (Somatoform Disorder)

 

จะพบว่า 4 ข้อข้างต้นเป็นสาเหตุของอาการมือชาที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มวัยทำงาน แต่หากใครที่มีโรคประจำตัว หรือมีอาการชาที่แตกต่างจาก 4 ข้อข้างต้นนี้ก็ควรระวังในสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ และควรพบแพทย์ทันที ได้แก่

 

  • อาการชาที่เกิดขึ้นจากโรคในระบบประสาทส่วนกลางทางสมองหรือไขสันหลัง มักเป็นอาการชาที่เกิดแบบมีแบบแผน (Pattern) เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก มักเป็นอาการชาเฉียบพลัน แต่มักจะชาครึ่งซีกทั้งหมด หรือมีอาการพูดไม่ชัดหรืออ่อนแรงร่วมด้วย เป็นต้น 

 

  • อาการมือชาที่เกิดจากโรคประจำตัว หรือสาเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อย เช่น เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี หรือเป็นมาเป็นเวลานาน, ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ, โรคทางภูมิคุ้มกันต่างๆ ในระยะแอ็กทีฟ เช่น SLE, โรคหลอดเลือดอักเสบหรืออุดตัน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน ก็สามารถทำให้เกิดอาการมือชาในลักษณะต่างๆ กันได้

 

จะเห็นได้ว่าอาการชามือนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งพบว่าโดยมากนั้นมักเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้และได้ผลดีหากได้รับการวินิจฉัยที่เร็วและรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากเริ่มมีอาการชามือมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน และไม่ดีขึ้นเมื่อพักผ่อนหรือทำการรักษาด้วยตนเองแล้ว ก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอายุรกรรม ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ หรือเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี และลดโอกาสการแย่ลงของอาการอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X