×

สรุปภาพรวม-สารหลักจาก WEALTH CLUB 2023 The Power Shift: Driving Growth in Economic Transition

10.08.2023
  • LOADING...

WEALTH CLUB 2023 The Power Shift: Driving Growth in Economic Transition ปิดฉากลงอย่างภาคภูมิ ด้วยกระแสตอบรับจากผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 550 ท่าน มีวิทยากรชั้นนำระดับประเทศ 7 ท่านจากวงการธุรกิจและการลงทุนร่วมแสดงวิสัยทัศน์และให้มุมมองในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนผ่าน 3 เวทีหลัก ที่ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ทิศทางเศรษฐกิจโลกและจุดยืนของประเทศไทย โอกาสของภาคธุรกิจไทยในวันที่ต้องเผชิญกับมรสุมความเสี่ยงที่จะมาเปลี่ยนพลวัตเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการจัดสูตรลงทุนเพื่อเป็นผู้ชนะในสมรภูมิ 

 

ทั้งนี้ WEALTH CLUB 2023 The Power Shift: Driving Growth in Economic Transition คว้าโอกาสจากเศรษฐกิจเปลี่ยนขั้ว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนผู้สนใจด้านการลงทุนได้เพิ่มพูนความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งงานในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปี และได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม ทั้งจากวิทยากรฝั่งธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนไทย และผู้ลงทุนที่เข้าร่วมงานสัมมนาอย่างล้นหลาม 

 

สารหลักจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผ่านปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ The Road to Thai Economic Resurgence: เศรษฐกิจไทยหลังการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง คือโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการปฏิรูปโดยด่วน หลังจากที่ผ่านมา 20 ปี แทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง 

 

โดย 3 โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยที่ต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน คือ 1. ภาคเกษตร ซึ่งสามารถทำได้โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มผลผลิต 2. ภาคการศึกษา ต้องได้รับการยกระดับโดยด่วน สะท้อนจากคะแนน PISA ซึ่งวัดทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยนั้นไม่มีพัฒนาการเลย ขณะที่ทักษะด้านภาษาอังกฤษของไทยดูเหมือนจะถดถอยลงด้วย ซึ่งหากไทยไม่ยกระดับการศึกษา Productivity หรือผลิตภาพแรงงานของประเทศจะค่อยๆ ลดลง 3. ภาคสังคม ที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างในทุกมิติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย 

 

ดร.ศุภวุฒิได้ย้ำว่า หากประเทศไทยยังไร้การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ปรับตัว ก็มีโอกาสสูงมากที่จะถูกประเทศเวียดนามไล่ทันภายใน 10 ปี 

 

ส่วนเวที How Business Survive in Transition: ธุรกิจเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนผ่าน เป็นเวทีที่ผู้นำองค์กรชั้นนำระดับประเทศ 3 ท่าน มาร่วมแบ่งปันมุมมองต่อโอกาสครั้งใหม่และครั้งใหญ่ที่จะปลดล็อกมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย และผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี มองว่าโอกาสสำคัญของเศรษฐกิจไทยคือการติดสปีดนโยบาย Green Economy ให้เร็ว เพื่อให้ตามโลกได้ทัน และสามารถคว้าโอกาสจากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยเอสซีจีในตอนนี้มองว่าโอกาสอยู่ที่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานขยะและพลังงานไฮโดรเจน

 

ขณะที่ ปตท. ยังเดินหน้าตามโจทย์ Beyond Energy อันเป็นธงหลักขององค์กรในทศวรรษนี้ โดย อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)​ หรือ PTT มองว่าเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของไทยก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแนะนำให้รัฐบาลมอง EV เป็นเหมือนยุคของรถยนต์สันดาปภายใน ภาค 2 เพื่อขยับประเทศมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 

 

นอกจากนี้ ปตท. ยังมองเห็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ หากไทยสามารถฟื้นเจรจาแหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา และพัฒนาแลนด์ลิงก์โลจิสติกส์รถไฟรางคู่

 

ซึ่งแลนด์ลิงก์โลจิสติกส์ก็เป็นธุรกิจที่ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) มองว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี โดยได้ยกประสบการณ์เมื่อครั้งได้เจอกับนักลงทุนจากประเทศจีนที่มาหารือธุรกิจกับบริษัทในพื้นที่ EEC ซึ่ง Facilitiy แรกๆ ที่นักลงทุนมองหาก็คือการขนส่งว่ามีความสะดวกรวดเร็วเพียงใด ซึ่ง ณ เวลานั้นน่าเสียดายที่ในนิคมฯ ยังไม่มีการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นระบบโลจิสติกส์ที่นักลงทุนต้องการ และในอนาคต WHA อยากเห็นภาพจากแลนด์ลิงก์สู่แลนด์บริดจ์ (มหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดีย) เกิดขึ้นควบคู่กันไป

 

นอกจากนี้ WHA ยังเชื่อว่า การต่างประเทศจะเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ผ่านการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้สปอตไลต์ส่องมาที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นก่อนถูกมองข้ามไป 

 

ขณะที่เวที Success in a Low-Return World: จากผู้รอดชีวิต สู่ผู้ชนะในสมรภูมิลงทุน ได้รับเกียรติจากนักลงทุน VI ระดับตำนานของประเทศ คือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งแม้ว่าในระยะหลัง ดร.นิเวศน์จะเพิ่มพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งลงทุนเพิ่มเป็น 30% ของพอร์ตลงทุนรวม แต่ ดร.นิเวศน์ก็ยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่สิ้นเสน่ห์หากสามารถล้างปัจจัยไม่แน่นอนออกไปจากตลาดหุ้นได้ โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ (หุ้นต่างๆ) สามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ New Economy ได้ 

 

เช่นเดียวกับ ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ที่ยังคงเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย แม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนต่ำเพียง 11% หรือเฉลี่ยเพียงปีละ 1% กว่าๆ ก็ตาม เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังมี 1. สภาพคล่องหรือมูลค่าการซื้อขายที่ยังค่อนข้างสูง 2. ความผันผวนที่ต่ำ โดยจะเห็นได้ว่าค่าความผันผวนรายเดือน เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีของ SET Index ต่ำเป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นรองเพียง MSCI World เท่านั้น และ 3. เงินปันผลที่สูง Dividend Yield เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ตลาดหุ้นไทยจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 3.08% เป็นรองเพียงตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งอยู่ที่ 3.43%

 

ขณะที่ จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย แนะนำ 4 กลยุทธ์การลงทุนในการรับมือกับความผันผวน ในช่วงที่ตลาดให้ผลตอบแทนต่ำ ได้แก่

 

  • การมองหาแนวรุกใหม่ (Find New Territories) ตัวอย่างเช่น การลงทุนในภาคส่วนดิจิทัล เครื่องจักรอัจฉริยะ เชื้อเพลิงสะอาด เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ และเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยง (Pet Economy) 
  • ทดลองหาสินทรัพย์ใหม่ (Explore Other Asset Classes) รวมไปถึงการลงทุนในหุ้นนอกตลาด ตัวอย่างเช่น SpaceX ซึ่งเป็นบริษัทด้านอวกาศ, Luminous ผู้พัฒนา Optical Microchip และ FITURE ผู้ผลิตเครื่องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในที่ร่ม ซึ่งเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและตอบโต้กับผู้ใช้ได้ในจีน
  • เพิ่มกลยุทธ์การลงทุน (Try Alternative Strategies) เช่น การใช้กลยุทธ์ Short Sell สลับ Long Sell และกลยุทธ์ High Frequency Trading 
  • เลือกวิธีบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม (Use Proper Risk Management) ได้แก่ กระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายระดับโลก และกลยุทธ์การเทรดแบบ Active พร้อมจำกัดการขาดทุน

 

WEALTH CLUB 2023 The Power Shift: Driving Growth in Economic Transition คว้าโอกาสจากเศรษฐกิจเปลี่ยนขั้ว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์จัดงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนผู้สนใจด้านการลงทุนได้เพิ่มพูนความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งงานในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปี และได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม ทั้งจากวิทยากรฝั่งธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนไทย และผู้ลงทุนที่เข้าร่วมงานสัมมนามากกว่า 550 ท่าน 

 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ The Road to Thai Economic Resurgence: เศรษฐกิจไทยหลังการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง โดยเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจไทยต้องได้รับการปฏิรูปโดยด่วนใน 3 โครงสร้าง คือ ภาคเกษตร ภาคการศึกษา และภาคสังคม โดยย้ำว่าหากประเทศไทยยังไร้การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ปรับตัว ก็มีโอกาสสูงมากที่จะถูกประเทศเวียดนามไล่ทันภายใน 10 ปี 

 

เวที How Business Survive in Transition: ธุรกิจเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนผ่าน ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งจากวิทยากรในงานเดียวกันและผู้ลงทุนที่มาร่วมงาน เนื่องจากผู้นำองค์กรชั้นนำระดับประเทศอย่าง เอสซีจี ปตท. และ WHA ได้เผยให้เห็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย ทั้งแนวคิดเรื่องการปลดล็อกนโยบาย Green Economy, การเปรียบ EV เป็นรถยนต์สันดาปภายใน ภาค 2 เพื่อให้รัฐบาลได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า หากปลดล็อก EV ในไทยได้ เศรษฐกิจจะไปได้ไกลอีกมากเพียงใด และการชี้ให้เห็นน่านน้ำของโลจิสติกส์รถไฟรางคู่ ซึ่งมีโอกาสขยายจากแลนด์ลิงก์ไปสู่แลนด์บริดจ์

 

เวที Success in a Low-Return World: จากผู้รอดชีวิต สู่ผู้ชนะในสมรภูมิลงทุน เป็นเวทีที่ผู้ร่วมงานกว่า 500 ท่านรอคอย เพื่อพบกับนักลงทุนระดับตำนานของประเทศ รวมถึงนักวิเคราะห์ชื่อดังจาก บล.หยวนต้า ซึ่งมีแฟนคลับติดตามอยู่มากมาย อีกทั้งยังได้รับฟังมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนและกลยุทธ์การจัดทัพลงทุนอย่างละเอียดจาก Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย 

 

ผู้ร่วมงานสัมมนาสนใจฟังเนื้อหากันอย่างหนาแน่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X