สุภาษิตชาวตะวันตกมีอยู่ว่า ‘ความตายและภาษีเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น’
จริงๆ หัวเรื่องนี้ควรบอกว่า นักกีฬาอเมริกันโดนภาษีอ่วมอรทัยด้วยซ้ำ แต่เนื้อหามันจะกว้างไกลจนเกินไป อีกทั้งยังไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประเด็นข่าวที่เพิ่งเกิดขึ้นระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา
แอนโธนี่ เดวิส ต่อสัญญาใหม่กับแอลเอ เลเกอร์ส 3 ปี ค่าตัว 186 ล้านดอลลาร์ หารเฉลี่ยออกมาต่อปี 62 ล้านดอลลาร์ (2170 ล้านบาท) แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ลีก
จากนั้นก็มีคนมาแจกแจงว่า รายได้จริงๆ ที่เดวิสรับต่อปีเพียง 24 ล้านดอลลาร์ (840 ล้านบาท)
มันหายไปไหนหมด? ภาษีคือคำตอบครับ แจกแจงได้ดังนี้
- รับมา 62 ล้านดอลลาร์
- ภาษีรัฐบาลกลาง 22.9 ล้านดอลลาร์
- เอ็นบีเอเอสโครว์ (NBA Escrow) 6 ล้านดอลลาร์
- ภาษีรัฐแคลิฟอร์เนีย 4.1 ล้านดอลลาร์
- ค่าธรรมเนียมเอเจนต์ 1.8 ล้านดอลลาร์
- จ็อกซ์ แท็กซ์ (Jock Tax) 1.8 ล้านดอลลาร์
- กองทุนสะสมเพื่อเกษียณ (FICA / Medicare) 1.4 ล้านดอลลาร์
ยานนิส อันเดโทคุนโบ เสาหลักของมิลวอคกี้ บัคส์ ดีกรี MVP 2 สมัย เห็นตรงนี้เข้าก็อดตั้งคำถามกับทุกขลาภที่เดวิสโดนจนอ่วมไม่ได้
“ใครคือ FICA กับ Jock เนี่ย? พวกมันแข่งบาสเป็นด้วยเหรอ?”
แม้แต่สมัย แช็ค โอนีล เข้าลีกใหม่ๆ ก็ยังโวยวายว่า FICA คือโปนจ้น เอ้ย โจรปล้นกันชัดๆ!
FICA ย่อมาจาก Federal Insurance Contribution Act เป็นกฎหมายที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1935 มองให้เห็นภาพก็คงเป็นกองทุนประกันสังคมที่เรามีกัน
แล้ว Jock Tax ล่ะมันคืออะไร?
เรื่องมันมีที่มาที่ไปจาก ไมเคิ่ล จอร์แดน ครับ
ใช่แล้ว ไมเคิ่ล จอร์แดน ที่ทุกคนรู้จักนั่นแหละ เกี่ยวโยงกับภาษีได้อย่างไร?
เมื่อปี 1991 เขากับชิคาโก้ บูลล์ส บุกไปเล่นงาน เลเกอร์ส ปิดซีรีส์ 4-1 เกมที่แอลเอ จากนั้นผู้เล่นบูลล์สก็ยังอยู่ปาร์ตี้ฉลองกันต่ออีกหลายวัน
แล้วความประหลาดก็เกิดขึ้น
รัฐแคลิฟอร์เนียแจ้งไปทางคนทำบัญชีของจอร์แดนว่า ติดหนี้ต้องจ่ายภาษีช่วงมาอยู่ในแอลเอรวมหมื่นดอลลาร์
ในเมื่อจอร์แดนไม่ได้มาจากแคลิฟอร์เนีย แล้วทำไมต้องจ่ายด้วย?
มันคือการเอาคืนโดยทางอ้อมนั่นเอง
ดังนั้นทางอิลลินอยส์จึงไม่พอใจที่เห็นซูเปอร์สตาร์รัฐพวกเขาโดนเล่นงาน
ตอบโต้กลับด้วยการออกกฎหมายเรียกว่า ‘การล้างแค้นของ ไมเคิ่ล จอร์แดน’
นักกีฬาคนไหนก็ตามจากแคลิฟอร์เนียหรือรัฐใดๆ มาแข่งในชิคาโก (อิลลินอยส์) ก็ต้องโดนภาษีบ้าง
พอประสบความสำเร็จ เป็นช่องทางหารายได้เพิ่ม มันก็ลามออกไป เกือบทุกรัฐต่างเก็บภาษีจากนักกีฬาและทีมเยือนทั้งนั้น คำนวณแบบรายวันและเริ่มตั้งแต่วันที่บินมาถึงและบินกลับออกไป
ไม่ใช่แค่นักกีฬาอย่างเดียว แม้แต่เทรนเนอร์, แพทย์ประจำทีม, โค้ช หรือใครก็ตามที่มีรายได้จากทีมต่างรัฐ พอเดินทางมาเยือนก็ต้องจ่ายภาษี
ประเมินกันว่าปีปีหนึ่งแคลิฟอร์เนียรับจาก Jock Tax ราว 250 ล้านดอลลาร์ (8,750 ล้านบาท) ทีเดียว
ขณะที่ฟลอริดา, เท็กซัส และเทนเนสซี 3 รัฐ NBA กลับไม่มีการเก็บ Jock Tax แต่อย่างใด (ยังมีอีก 2 รัฐที่ไม่เก็บก็คือ เนวาดากับวอชิงตัน)
ดิแอร่อน ฟ็อกซ์ การ์ดของทีมซาคราเมนโต้ คิงส์ ซึ่งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย เคยต่อสัญญา 4 ปี ค่าตัว 90 ล้านดอลลาร์ (3,150 ล้านบาท) เมื่อปี 2020 ก็เคยบ่นเรื่องนี้
“เราจะโดนภาษีทุกเมืองหรือทุกรัฐที่เราไปแข่ง ยกตัวอย่างเช่น เราแข่งในบ้าน 41 เกมไม่พอ ดันมีอีก 4 เกมในแอลเอ กับอีก 2 เกมในซานฟรานซิสโก เท่ากับมีถึง 47 เกมที่ต้องโดนภาษีแคลิฟอร์เนีย การมีตั้ง 4 ทีมในรัฐนี่มันแย่สุดๆ”
ระบบการจัดโปรแกรมของ NBA โดยพื้นฐานจะเป็นแบบนี้
- แต่ละทีมต้องแข่ง 4 เกม กับอีก 4 คู่แข่งร่วมดิวิชัน (รวม 16 เกม)
- แข่ง 4 เกม กับ 6 คู่แข่งร่วมคอนเฟอเรนซ์ (ต่างดิวิชัน) (รวม 24 เกม)
- แข่ง 3 เกม กับอีก 4 คู่แข่งร่วมคอนเฟอเรนซ์ (ต่างดิวิชัน) ที่เหลือ (รวม 12 เกม)
- แข่ง 2 เกม กับคู่แข่งต่างคอนเฟอเรนซ์ (รวม 30 เกม)
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ แพซิฟิก ดิวิชัน ซึ่งมีแอลเอ คลิปเปอร์ส, แอลเอ เลเกอร์ส, โกลเด้น สเตท วอร์ริเอออร์ส, ซาคราเมนโต้ คิงส์ และฟีนิกซ์ ซันส์
หมายความว่าซันส์ต้องโดน Jock Tax เยอะที่สุดจากการที่ต้องไปแข่งกับอีก 4 ทีมแคลิฟอร์เนีย รวม 8 นัด
แล้วคำนวณอย่างไร กฎหมายแคลิฟอร์เนียบอกว่า Jock Tax นับจากวันที่ทำภารกิจในรัฐ
คำจำกัดความของวันที่ทำภารกิจก็คือ วันที่อยู่ภายใต้สัญญานับจากเริ่มการอุ่นเครื่องไปจนถึงเกมสุดท้ายที่แข่งฤดูกาลปกติ
ปกติพรีซีซัน NBA จะเริ่มกลางเดือนกันยายน ไปจบเกมสุดท้ายฤดูกาลปกติกลางเดือนเมษายน
เท่ากับว่าผู้เล่นจะมีราว 240 วันภารกิจ (ไม่นับเพลย์ออฟ)
ผู้เล่นซันส์เข้าไปแคลิฟอร์เนีย แข่ง 8 นัด อยู่ที่นั่นนัดละ 2 วัน เท่ากับ 16 วันทำภารกิจ
16/240 เท่ากับ 6.6% ที่แคลิฟอร์เนีย จะถือว่ามามีรายได้จากรัฐพวกเขา
อย่าง เควิน ดูแรนท์ ซูเปอร์สตาร์ซันส์ มีค่าจ้าง 46.4 ล้านดอลาร์ x 6.6% เท่ากับ 3.0624 ล้านดอลลาร์
ภาษีของแคลิฟอร์เนียคือ 13.3% จึงคิดเป็น 4.07 แสนดอลลาร์ทีเดียว
ในทางกลับกัน เวลาผู้เล่นอย่างเดวิสบินไปแข่งไมอามี่ ฮีต หรือเมมฟิส กริซซลี่ส์ เขาก็สบายตัว เพราะจะไม่โดน Jock Tax อยู่หลายวัน ยิ่งดีด้วยซ้ำ
มันไปเกี่ยวโยงกับเรื่อง
- ภาษีรัฐแคลิฟอร์เนียแพงที่สุดในบรรดารัฐทั้งหมดที่มีทีม NBA 13.3% แต่ในเมื่อเดวิสไม่ได้ลงแข่งทุกเกมในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งยังมีวอร์ริเออร์ส, คลิปเปอร์ส และคิงส์ ยอดภาษีที่คำนวณจึงออกมาประมาณเบื้องต้น
มีอยู่ 3 รัฐ NBA จะไม่เก็บภาษีส่วนนี้ก็คือ เท็กซัส (ดัลลัส แมฟเวอริกส์, ฮิวสตั้น ร็อคเก็ตส์ และซาน แอนโตนิโอ สเปอร์ส), ฟลอริดา (ไมอามี่ ฮีต และ ออร์แลนโด้ แมจิก) และเทนเนสซี (เมมฟิส กริซซลี่ส์)
เท่ากับว่าถ้าเดวิสแข่งให้ 1 ใน 6 ทีมดังกล่าว จะเซฟเงินเกือบ 20 ล้านดอลลาร์ (700 ล้านบาท) ตลอดอายุสัญญาที่เหลือ 5 ปี
ฟ็อกซ์พูดเรื่องนี้เช่นกัน “คนที่โดนดราฟต์ต่อจากผม ทำไปทำมาได้ค่าจ้างรุกกี้มากกว่าผม เพราะพวกเขาอยู่ในฟลอริดา”
เขาโดนดราฟต์เข้า NBA ปี 2017 รับค่าจ้างปีแรกจากคิงส์ 4.6 ล้านดอลลาร์
โจนาธาน ไอแซ็ค คือคนที่ถูกดราฟต์ต่อจากเขาไปอยู่ออร์แลนโด้ แมจิก รับค่าจ้างปีแรก 4.18 ล้านดอลลาร์
แต่ด้วยความอัศจรรย์ของภาษี ทำให้ฟ็อกซ์ได้ค่าจ้างจริงน้อยกว่าไอแซ็ค
อย่าเพิ่งตาลายกับตัวเลขครับ ยังมีคำอธิบายส่วนอื่นของโครงสร้างภาษีที่เดวิสต้องโดนอีกนั่นคือ
- ก้อนใหญ่สุดคือภาษีรัฐบาลกลาง ผู้เล่น NBA ส่วนใหญ่โดนกัน 37% เพราะมีรายได้เลยเพดานสูงสุด
- เอ็นบีเอเอสโครว์ (NBA Escrow) เป็นเหมือนเงินประกัน ซึ่งลีกจะหักจากผู้เล่นเอาไว้ก่อน 10% เผื่อในกรณีว่าค่าจ้างรวมกันของผู้เล่นเกินกว่ายอด 51% ของรายได้ลีกที่มาจากบาสเกตบอล ก็ต้องมีการเกลี่ยคืนให้เจ้าของทีม
ถามว่า 51% มาจากไหน?
มาจากข้อตกลงเพื่อประโยชน์ร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Collective Bargaining Agreement (CBA) ซึ่งทางเจ้าของทีมและสหภาพผู้เล่นตกลงกันเอาไว้
ผู้เล่นจะต้องได้ส่วนแบ่งรายได้จากบาสเกตบอลของลีก 51% ขณะที่เจ้าของทีมได้ 49%
อ่านดูเหมือนซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงก็คือ เกิน 90% ของ NBA Escrow จะคืนกลับให้ผู้เล่น เพราะยอดค่าจ้างรวมและรายได้ลีกมีการประเมินเอาไว้อย่างเหมาะสมตั้งแต่แรก ดังนั้นรายของเดวิสท้ายที่สุดก็จะรับอยู่ที่ราว 30 ล้านดอลลาร์ (1,050 ล้านบาท)
- ค่าธรรมเนียมเอเจนต์ ตรงส่วนนี้ผมไม่แน่ใจว่าทำไมถึงออกมา 1.8 ล้านดอลลาร์ เพราะ ริช พอล เอเจนต์ของ แอนโธนี่ เดวิส เรียกเก็บค่าธรรมเนียมลูกค้า 4% ดังนั้นเทียบจากสัญญาที่เดวิสได้มันน่าจะเป็น 2.48 ล้านดอลลาร์มากกว่า
ทีนี้คงพอจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมแค่สัญญาของ แอนโธนี่ เดวิส คนเดียว จึงกลายเป็นเรื่องเป็นราวของตัวเลขที่น่าเวียนหัวแบบนี้