เครดิตบูโรเผย หนี้เสียไทยในไตรมาส 2 กลับมาพุ่งทะลุ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อ ชี้หนี้เสียรถยนต์เริ่มส่งกลิ่นไม่ดีหลังปรับขึ้นจากปีก่อนถึง 18% แต่เชื่อว่าภาพรวมยังไม่เกิด NPL Cliff หลังหนี้ SM ลดลงจากไตรมาสแรกที่ 6 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 4.75 แสนล้านบาท
สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์หนี้เสีย หนี้กำลังจะเสีย (Special Mention Loan) และหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง โดยระบุว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 จากการประมวลผลจากฐานข้อมูลสถิติที่เอาตัวตนออกไปแล้วของเครดิตบูโรพบข้อเท็จจริงว่า หนี้ครัวเรือนไทยทั้งก้อนหลังการปรับปรุงข้อมูลโดย ธปท. มีตัวเลขอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ของ GDP ที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยซึ่งมีปัญหาในเรื่องหนี้ครัวเรือนอยู่แล้ว จะยังติดอยู่ในกับดักนี้ต่อไป
ทั้งนี้ จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย 13.45 ล้านล้านบาทที่จัดเก็บอยู่ในระบบของเครดิตบูโร ซึ่งครอบคลุม 32 ล้านลูกหนี้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินไทยกว่า 135 แห่ง พบว่า ปริมาณหนี้ที่เสียไปแล้วรอการแก้ไขได้กลับมาแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ระดับ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.7% จากที่เมื่อไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 9.5 แสนล้านบาท และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะต้องไปต่อแน่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และทั่วถึง ประกอบกับจะมีการชักคืนมาตรการช่วยเหลือออกตามแผน แล้วกลับไปใช้มาตรการตามปกติเดิมมารองรับ แม้การเพิ่มขึ้นอาจไม่รุนแรง แต่มีโอกาสเพิ่มขึ้นแน่
“ไส้ในของหนี้ที่เสียไปแล้ว หรือหนี้ NPLs ประกอบด้วยหนี้กู้ซื้อรถยนต์เกือบ 2 แสนล้านบาท, หนี้กู้ซื้อบ้านและที่อยู่อาศัย 1.8 แสนล้านบาท, หนี้ Ploan 2.5 แสนล้านบาท, บัตรเครดิต 5.6 หมื่นล้านบาท และหนี้เกษตร 7.2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ที่น่าสังเกตคือ หนี้กู้มาซื้อรถยนต์นั้นเพิ่มขึ้นจากกลางปีที่แล้ว เดือนมิถุนายน 2565 สูงถึง 18% อันนี้ต้องยอมรับว่ากลิ่นไม่ค่อยดี” ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรระบุ
นอกจากนี้จากหนี้ NPLs ทั้งหมด 1.03 ล้านล้านบาทนั้นยังพบว่า เป็นหนี้เสียรหัส 21 หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจนกลายเป็นหนี้เสีย มีจำนวน 3.7 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนรายลูกหนี้ 3.4 ล้านคน ซึ่งข้อสังเกตที่สำคัญคือ จากไตรมาสที่ 1 ปี 2566 หรือเมื่อ 3 เดือนก่อน ตัวเลขในกลุ่มนี้อยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท การเพิ่มของจำนวนเงินและจำนวนรายทั้งๆ ที่มีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแบบมุ่งเป้าอย่างเต็มกำลัง สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแรงของความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่ชัดเจน ดังนั้นคำถามที่ต้องติดตามต่อไปคือ ในระยะเวลาที่เหลือก่อนที่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวหรือมาตรการฟ้าส้มจะถูกชักออกไปในปลายปี เดือนธันวาคมนี้ จะส่งผลให้เกิดความอืดและความหนืดในการเร่งจัดการหนี้เสียเป็นหนี้ดีตามที่มุ่งหวังหรือไม่
สุรพลระบุว่า หนี้อีกประเภทที่เครดิตบูโรจับตาดูคือหนี้เสียที่เอาไปปรับโครงสร้าง เอาไปซ่อม เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ดี จ่ายได้ ตรงนี้พบว่ามีจำนวน 9.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งเข้าไปช่วยเหลือและช่วยปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการที่ออกแบบมาโดย ธปท.
ขณะที่กลุ่มหนี้ที่กำลังจะเสีย หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan) หรือหนี้ที่มีการค้างชำระ 31-90 วันแต่ยังไม่ข้ามเส้นการค้างชำระเกิน 90 วัน พบว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 4.75 แสนล้านบาท ลดลงมาจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ที่มีอยู่สูงถึง 6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปดูไส้ในจะพบว่า 2 แสนล้านบาทเป็นหนี้กู้ซื้อรถยนต์ 1.3 แสนล้านบาทเป็นหนี้กู้ซื้อบ้าน ในจำนวนนี้ 9 หมื่นล้านบาทเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งก็จะสะท้อนไปที่บ้านราคาไม่แพง กลุ่มรายได้ปานกลาง, รายได้น้อย นอกจากนี้ยังมีหนี้ Ploan อีก 8.6 หมื่นล้านบาท
สุรพลกล่าวอีกว่า อัตราการไหลของหนี้ SM ไปเป็นหนี้เสียหรือกลายไปเป็นหนี้ NPLs อ้างอิงข้อมูลจาก ธปท. นั้นพบว่า Migration Rate ของสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 22% สินเชื่อรถยนต์ 12% สินเชื่อส่วนบุคคล 54% และบัตรเครดิต 57% ซึ่งอัตราส่วนนี้บ่งบอกว่า หนี้เสียที่จะไหลมาจากหนี้กำลังจะเสียนั้นคงจะยังไม่เป็นขนาดถล่มทลายแบบตกหน้าผากัน แต่ก็ไม่ควรลืมว่าการค้างชำระในส่วนของหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น รถยนต์, บ้านและที่อยู่อาศัยนั้น เป็นอะไรที่ไม่น่าจะสบายใจนัก ประกอบกับไทยยังมีเรื่องของค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง อีกส่วนหนึ่งที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แรงกดดันจากค่าใช้จ่ายตรงนี้อาจจะมาเบียดรายได้ที่ไม่ค่อยแน่นอน มั่นคง และเพียงพอที่จะรองรับการเอาไปชำระหนี้ในแต่ละเดือนได้ให้ไม่เกิดการค้างชำระได้เพียงใด