บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลกำไรสุทธิประจำไตรมาส 2/2566 จำนวน 1.03 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.7% หลังขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) ที่ลดลง พร้อมเคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.30 บาทต่อหุ้น และจำหน่ายหุ้นซื้อคืนกว่า 116 ล้านหุ้น
ในไตรมาส 2 ปี 2566 ไทยยูเนี่ยนทำยอดขายได้ 34,057 ล้านบาท ลดลง 12.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้าทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการขนส่งสินค้าเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้ความต้องการสินค้าชะลอตัวลง ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานยังโตขึ้น 8.2% ที่ 1.8 พันล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 19.7% ด้านอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 16.9% คงที่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ว่าราคาวัตถุดิบจะมีการปรับตัวสูงขึ้น
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากตลาดทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังปี 2566 และแม้ว่าบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในช่วงครึ่งปีแรก งบดุลของไทยยูเนี่ยนยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้วยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 0.64 เท่า ในไตรมาส 2 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.0 เท่า จึงทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้ โดยอัตราจ่ายการปันผล 70.3% ของกำไรสุทธิ
จากผลประกอบการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.30 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 4 กันยายน 2566 เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 22 สิงหาคม 2566
นอกจากนี้บริษัทได้อนุมัติการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนสำหรับโครงการซื้อหุ้นคืน ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 โดยมีจำนวนหุ้นซื้อคืนทั้งสิ้น 116,682,800 หุ้น หรือคิดเป็น 2.445% ของทุนจดทะเบียน กำหนดระยะเวลาจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15-23 สิงหาคม 2566 และราคาจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนต้องไม่น้อยกว่า 85% ของราคาปิดหุ้นเฉลี่ย 5 วันทำการก่อนวันที่ทำรายการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนแล้วจำหน่ายหุ้นไม่หมด บริษัทจะลดทุนที่ชำระแล้วด้วยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่ซื้อคืนและไม่ได้จำหน่ายทั้งหมด
โดยปกติในไตรมาส 2 ของทุกปี ยอดขายจะสูงขึ้นเป็นปกติเนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดขายในยุโรปเติบโตได้ดี เกิดการส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายประจำไตรมาส 2 สูงขึ้น 4.3% และกำไรสุทธิสูงขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่บริษัทคาดว่าเป็นไตรมาสที่อ่อนตัวที่สุด รวมถึงกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น 16.9% อยู่ที่ประมาณ 5.75 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยอดขายจากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องอยู่ที่ 1.7136 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 1.3% และนับเป็นยอดขายประจำไตรมาสที่สูงที่สุดในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา สาเหตุจากราคาขายที่สูงขึ้นและกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ด้านสินค้าแบรนด์อื่นภายใต้บริษัทยังคงเดินหน้าคิดค้นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
เรด ล็อบสเตอร์ ธุรกิจร้านอาหารทะเลระดับโลกที่ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำผลงานได้ดีขึ้นในไตรมาส 2 หลังจากแผนพลิกฟื้นธุรกิจได้ส่งสัญญาณบวก โดยมีส่วนแบ่งขาดทุนจากการดำเนินงาน 94 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 281 ล้านบาท
ธีรพงศ์ทิ้งท้ายว่า ในช่วงครึ่งปีหลังไทยยูเนี่ยนจะเดินหน้าแผนต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการทำกำไร โดยมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงาน พร้อมลดต้นทุนในการผลิต บริษัทยังเชื่อว่าจะสามารถทำผลงานได้ดีในระยะยาว และเมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้ประกาศกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่าง SeaChange 2030 ที่ตั้งเป้าหมายถึงปี 2573 เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลก โดยได้มีการจัดสรรงบประมาณ 7,200 ล้านบาท เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อผู้คนและโลก