×

ไอติม พริษฐ์ ยก 4 เหตุผล เสนอประธานสภาเร่งหาข้อสรุปตั้ง กมธ.สามัญ โดยไม่ต้องรอตั้งรัฐบาลใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
04.08.2023
  • LOADING...
ไอติม พริษฐ์

วันนี้ (4 สิงหาคม) ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งมีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล เพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ให้มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงหนึ่ง ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง เขต 4 พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นหารือถึงปัญหาการประสานงานระหว่างพรรคการเมืองในการหาข้อสรุปประเด็นต่างๆ เมื่อเสร็จสิ้น 

 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จึงกล่าวถึงความคืบหน้าข้อเสนอของ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมสภา เมื่อวานนี้ (3 สิงหาคม) ให้รีบนัดตัวแทนของทุกพรรคการเมือง เพื่อร่วมหาข้อสรุปเกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการสามัญ 35 คณะโดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาลใหม่ โดยประธานรัฐสภาระบุว่า ได้สั่งการให้ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่ 2 ซึ่งดูแลเรื่องกรรมาธิการเป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าจะสามารถแจ้งสัดส่วนใน กมธ. ให้ สส. ทราบได้

 

จากนั้น พริษฐ์ใช้สิทธิพาดพิง กล่าวขอบคุณประธานที่รับฟังและพยายามเร่งรัดข้อเสนอดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ผูกติดเงื่อนไขให้การตั้ง กมธ.สามัญ 35 คณะ ต้องรอให้มีฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก่อน เพียงแต่กำหนดสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมืองตามจำนวน สส. ที่มีอยู่

 

นอกจากนั้นข้อดีอีกประการ หากตั้ง กมธ.สามัญได้ก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาล อาจช่วยให้สภาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้มีประสิทธิภาพและเข้มข้นมากขึ้น เพราะจากสถิติสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว จะเห็นว่าในบรรดา กมธ.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ส่วนใหญ่ของคนที่นั่งเป็นประธานใน กมธ.นั้น มักสังกัดพรรคเดียวกันกับรัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ พริษฐ์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจส่วนตัว ชี้แจงเหตุผลของข้อเสนอดังกล่าวด้วยว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อที่ 90 กำหนด กมธ.สามัญไว้ 35 คณะ แบ่งตามประเด็นปัญหาต่างๆ ของประชาชน เช่น พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาการเมือง การเกษตรและสหกรณ์ การศึกษา โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา สภามักตั้งคณะกรรมาธิการสามัญหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยกติกาการเมืองที่ไม่ปกติ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ได้ดำเนินการมาครบ 1 เดือนวันนี้ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของสมัยประชุมนี้ โดยที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ และไม่แน่ใจว่าจะมีเมื่อไร

 

พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้สภาพิจารณาเร่งรัดการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญอย่างเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอการตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามข้อบังคับ โดยมี 4 เหตุผลประกอบ ดังนี้

 

เหตุผลที่หนึ่ง การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญจะทำให้ประเทศมีกลไกเพิ่มเติมในการรับเรื่อง ศึกษา และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาประชาชน ในส่วนกลไกฝ่ายบริหาร เราเข้าใจว่าสังคมและผู้แทนราษฎรอาจยังมีความเห็นต่างกัน ว่าเราควรจะหาสมดุลอย่างไรระหว่างการมีรัฐบาลที่เร็วกับรัฐบาลที่เป็นไปตามมติมหาชนและผลการเลือกตั้ง แต่ในส่วนกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญสามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่มีปัญหาลักษณะดังกล่าว เนื่องจากเลขาธิการสภาได้แจ้งกับ ส.ส. ทุกคนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ว่าทางเจ้าหน้าที่ได้จัดสรรจำนวนกรรมาธิการของแต่ละพรรคเรียบร้อยแล้ว

 

เหตุผลที่สอง การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ จะช่วยให้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้าดูระเบียบวาระที่ถูกบรรจุเข้ามาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นหลายวาระที่เป็นญัตติในการใช้กลไกของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อมาเร่งรัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ

 

แม้ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สำคัญเร่งด่วนต่อพี่น้องประชาชน แต่หากเรามีคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะตั้งขึ้นมาแล้ว บางปัญหานั้นสามารถถูกแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อยไปกว่ากัน ผ่านกลไกกรรมาธิการสามัญ ซึ่งจะทำให้เรามีเวลาในห้องประชุมใหญ่เพิ่มมากขึ้นในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่ต่อคิวอยู่จำนวนไม่น้อย

 

เหตุผลที่สาม การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ จะช่วยปลดล็อกให้กลไกนิติบัญญัติอื่นๆ ของสภาที่มีความเชื่อมโยงกับบทบาทของคณะกรรมาธิการสามัญเดินหน้าต่อได้ ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดคือกระบวนการคัดค้านคำวินิจฉัยของประธานสภาว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินที่ต้องส่งให้นายกฯ รับรอง ซึ่งข้อบังคับข้อ 114 และ 115 ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของการประชุมร่วมกันของประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการสามัญทุกคณะ

 

เหตุผลที่สี่ การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญก่อนจะรู้หน้าตาของรัฐบาล อาจเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร หากเราย้อนไปดูสถิติของสภาชุดล่าสุด จะพบว่าในบรรดาคณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เกินครึ่งหนึ่งจะมีประธานที่สังกัดพรรคเดียวกันกับรัฐมนตรีประจำกระทรวงนั้น การจัดองค์ประกอบเช่นนี้ทำให้ประชาชนหลายคนตั้งข้อกังวลว่า อาจเป็นการทำให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการในการตรวจสอบการทำงานของกระทรวงนั้นเข้มข้นน้อยลง ดังนั้น การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญก่อนจะรู้ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลหรือใครเป็นรัฐมนตรี อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคณะกรรมาธิการสามัญในการตรวจสอบรัฐบาล

 

ด้วยเหตุผล 4 ประการนี้ จึงเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้รีบนัดตัวแทนของทุกพรรคการเมือง เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการตั้งกรรมาธิการสามัญ 35 คณะอย่างเร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาลใหม่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising