กระแสการพลิกกลับในตลาดทองคำเริ่มปรากฏ หลังธนาคารกลางคาซัคสถาน ผู้เคยเป็นหนึ่งในผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกในปีนี้ กลับกลายเป็นผู้ขายรายใหญ่ พร้อมตั้งเป้าลดสัดส่วนทองคำให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมูลค่า 3.45 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากธนาคารกลางตุรกีและอุซเบกิสถานแล้ว ธนาคารกลางคาซัคสถานยังเป็นหนึ่งในสถาบันที่มีส่วนทำให้การซื้อทองคำแท่งจากธนาคารกลางลดลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งการซื้อทองคำของธนาคารกลางคิดเป็นประมาณ 25% ของความต้องการซื้อทองคำทั่วโลกในปีที่แล้ว
ธนาคารกลางคาซัคสถานได้ขายทองคำไปแล้ว 67 ตันในช่วง 6 เดือนแรก เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดส่วนแบ่งทองคำในทุนสำรองให้อยู่ในระดับ 50-55% ซึ่งจะทำให้ทองคำเหลือเพียง 300 ตันในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 314 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 56% เฉพาะปีที่แล้วธนาคารกลางแห่งนี้สามารถขายทองคำได้ถึง 120 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์
การเปลี่ยนแปลงจากทองคำแท่งจะนำไปสู่สกุลเงินต่างประเทศของทุนสำรอง ซึ่งมีการลงทุนในตราสารที่มีสภาพคล่องสูงในต่างประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังคงถือทองคำในบัญชีต่างประเทศที่ไม่ได้จัดสรร โดยฝากไว้ในบัญชีเงินฝากทองคำที่ให้ดอกเบี้ย
ทางการของคาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ต้องการล็อกอุปทานทองคำในประเทศ โดยให้สิทธิ์การตัดสินใจแก่ธนาคารกลาง หลังเคยมีทองคำในทุนสำรองเกือบ 70% ในปีที่แล้ว จากเพียง 10% ในปี 2011 และสัดส่วนที่เหมาะสมของทองคำมาจากการคำนึงถึงความต้องการด้านสภาพคล่อง ความสามารถในการทำกำไร และการตั้งความเสี่ยงระดับปานกลาง
นับเป็นเรื่องที่ผิดปกติจากการลดสัดส่วนทองคำของธนาคารกลางคาซัคสถาน เนื่องจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สัดส่วนการถือครองทองคำสำรองทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า จากการสำรวจที่ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคมโดยสภาทองคำโลก (World Gold Council)
ที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นจากแรงซื้อของนักลงทุนที่มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางสภาพตลาดที่ผันผวนและเงินเฟ้อในระดับสูง ดังนั้น ธนาคารกลางคาซัคสถานอาจฉวยโอกาสขายทองคำจากราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสแรกและต้นไตรมาส 2
นอกจากทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศแล้ว ธนาคารกลางคาซัคสถานยังมีสินทรัพย์ในกองทุนน้ำมันแห่งชาติมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีทองคำประมาณ 40 ตัน คิดเป็น 4.9% ของพอร์ตสินทรัพย์ ด้วยเพดานจัดสรร 5% สำหรับทองคำแท่ง ธนาคารกลางจึงไม่มีแผนที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทองคำในพอร์ตดังกล่าว
“สัดส่วนของทองคำสำรองในท้ายที่สุด ณ สิ้นปี 2023 จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ราคาทองคำไปจนถึงปริมาณการซื้อจากผู้ผลิตในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอัตราส่วนที่เหมาะสมในการถือครองระหว่างทองคำกับสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศ” ธนาคารกลางคาซัคสถานระบุ
อ้างอิง: