เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา กองทัพอากาศเปิดพื้นที่กองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ ต้อนรับทีมนักศึกษา CUHAR (Chulalongkorn University High Altitude Research: กลุ่มวิจัยอาณาบริเวณที่สูง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเยี่ยมชมและร่วมหารือความร่วมมือ เพื่อร่วมกันผลักดันและพัฒนางานด้านอวกาศของนักศึกษาไทย
ระหว่างการเยี่ยมชม กองทัพอากาศได้พาชมพื้นที่โรงงานของกองสนับสนุนการวิจัยยุทโธปกรณ์ พร้อมจัดแสดงผลงานการวิจัย ออกแบบ และสร้างจรวด เพื่อใช้เป็นอาวุธป้องกันประเทศ ต่อด้วยการพาชมพื้นที่สำหรับทดสอบจรวดภายในกองทัพ ที่มุ่งเน้นพัฒนาเป็น Sandbox และ Spaceport สำหรับให้นักวิจัยและนักนวัตกรรมสามารถมาทดสอบผลงานของตนเองในพื้นที่ที่เคยถูกหวงห้ามไว้ได้
ภูวิศ เชาวนปรีชา ประธาน CUHAR ได้นำเสนอแผนความร่วมมือสำหรับการวิจัยและศึกษา โดยมี น.อ. รณชิต วิจิตร ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ ร่วมรับฟังการนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูล และถกประเด็นความร่วมมือ ในการใช้พื้นที่ของกองทัพอากาศเพื่อสนับสนุนการทำงานของนักศึกษา
สำหรับทีม CUHAR สร้างชื่อจากการสร้างจรวด Sounding Rocket ‘CURSR-I’ เข้าร่วมแข่งขันจรวดความเร็วเสียงรายการ Spaceport America Cup ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2022 ได้สำเร็จ แม้ว่าทีมจะประสบกับข้อจำกัดในการทดสอบยิงและการหาเชื้อเพลิงมาใช้งาน
กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. Space & Rocket Center and NASA Visitor Center) ประจำประเทศไทย และอดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศและความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร ผู้ประสานงานความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า หลังจากนี้จะมีการผลักดันให้เกิด MOU กับมหาวิทยาลัยและเอกชนต่างๆ ที่มีแรงบันดาลใจและศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งด้านจรวด ยานอวกาศ เรดาร์ หุ่นยนต์ และโรเวอร์ ทั้งแบบปฏิบัติการทางบก น้ำ อากาศ และอวกาศ รวมถึงดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศอื่นๆ เพื่อให้พลเรือนสามารถใช้พื้นที่ของกองทัพอากาศในการสร้างและทดสอบจรวด รวมถึงนวัตกรรมด้านอวกาศอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกับร่วมกันผลักดันงานด้านอวกาศในประเทศไทยให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยเกิด Space Economy หรือเศรษฐกิจอวกาศ ขึ้นอย่างจริงจังในทุกระดับ และเป็น 1 ใน 20 ของ Space Force หรือประเทศที่มีความสามารถด้านอวกาศในระดับโลก
ก่อนหน้านี้กองทัพอากาศได้สร้างและออกแบบดาวเทียม TU-1 หรือ Thai Universe-1 ดาวเทียมแบบ CubeSat ดวงแรกของหน่วยงานรัฐประเทศไทย ซึ่งได้ถูกส่งไปทดสอบที่ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติของ GISTDA เมื่อเดือนมีนาคม 2023 เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อเป็นดาวเทียมรุ่นถัดไปที่มีความพร้อมนำไปต่อยอดส่งขึ้นสู่วงโคจรจริงในอนาคต