นักเศรษฐศาสตร์ Krungthai COMPASS และ SCB EIC เตือนว่า แม้การส่งออกในระยะต่อไปอาจได้รับแรงหนุนจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงท้ายปี แต่มูลค่าการส่งออกต่อเดือนอาจฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง หลังกระทรวงพาณิชย์เผยมูลค่าการส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ติดลบ 6.4% ในเดือนมิถุนายน
Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ส่งออกจะยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้ หลังจากที่หดตัว 5.4%YoY ในช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในครึ่งปีหลังจะกลับมาเป็นบวกจากผลของฐานปีก่อนที่ต่ำลง แต่มูลค่าการส่งออกต่อเดือนอาจฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Manufacturing PMI) ยังอยู่ในระดับหดตัวต่อเนื่อง
อีกทั้งเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของภูมิภาคที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และข้อมูลเร็วการส่งออกของเกาหลีใต้เดือนกรกฎาคม 20 วันแรกยังหดตัวสูงถึง -16.5%YoY สะท้อนถึงอุปสงค์โลกยังอ่อนแอ
ขณะที่ SCB Economic Intelligence Center (EIC) มองว่าการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปียังขาดหลายปัจจัยหนุน เนื่องจาก
- เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลง โดยเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลง 0.8%QOQ จาก 2.2%QOQ ในไตรมาส 1 ขณะที่การนำเข้าสินค้าของจีนในเดือนมิถุนายนยังหดตัวต่อเนื่อง -8.6%YOY และการนำเข้าสินค้าไทยของจีนหดตัวแรง -17.4% ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานสูงที่มูลค่าการนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2022 สูงสุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูล แต่หากเทียบข้อมูลเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้าของจีนขยายตัว 4.9%MOM
- ดัชนี Flash Manufacturing PMI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการผลิตเบื้องต้นในเดือนกรกฎาคมของประเทศคู่ค้าสำคัญหดตัวแรงต่อเนื่อง นำโดย Eurozone Manufacturing PMI ที่ลดลงมาอยู่ที่ 42.7 จาก 43.4 ในเดือนมิถุนายน, UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 45.0 จาก 46.5 ในเดือนมิถุนายน, Japan Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 49.4 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ US Manufacturing PMI ยังอยู่ในภาวะหดตัวที่ระดับ 49.0 แม้ปรับตัวดีขึ้นจาก 46.3 ในเดือนก่อน
- ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือนกรกฎาคมหดตัว -15.2%YOY หลังจากขยายตัว 5.2% ในเดือนก่อนจากปัจจัยฐานต่ำ และหากเทียบกับเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล หดตัว -2.9%MOM นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดจีนและสหรัฐฯ หดตัวมากขึ้น -21.2%YOY และ -7.3%YOY ตามลำดับ ในระยะต่อไปยังต้องจับตา
- ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (เอลนีโญ) ที่อาจกระทบผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรตั้งแต่ปลายปีนี้ แต่ความเสียหายส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2024
อย่างไรก็ตาม มุมมองการส่งออกของไทยในระยะต่อไปยังพอมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง จาก 1. ปัจจัยฐานต่ำโดยเฉพาะในช่วงปลายปี มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนเฉลี่ยที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เทียบค่าเฉลี่ยปี 2022 ที่สูงเกือบ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ที่ 2.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- แรงกดดันอุปทานคอขวดคลี่คลายสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ค่าระวางเรือลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตโควิดแล้ว ส่งผลให้แรงกดดันจากต้นทุนการขนส่งสูงมีแนวโน้มทยอยหมดไป
- ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น จะมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนประกอบกับการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันของ OPEC+ มีแนวโน้มทำให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้ง นโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดียคาดว่าจะส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของโลกปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า