วันนี้ (26 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาวาระพิจารณาบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกไปว่า เหตุที่งดการประชุมวันที่ 27 กรกฎาคมนั้น เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องดี เมื่อมีผู้สงสัยก็ส่งเรื่องให้องค์กรสูงสุดเพื่อให้วินิจฉัยแนวทางปฏิบัติ เป็นแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร คำฟ้องศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ดีกับทุกฝ่าย
วันมูหะมัดนอร์กล่าวอีกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้วศาลชี้ว่าทำไม่ได้ก็จะเกิดความเสียหายย้อนกลับ ไม่ใช่แค่เรื่องเวลา แต่บุคคลที่เราเลือกเป็นนายกฯ ก็จะเสียหายไปด้วย รวมถึงกระบวนการต่อไปก็จะเกิดความเสียหาย จึงต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอยู่หลายแนวทาง หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องก็สามารถดำเนินการต่อ หากมีคำสั่งให้ชะลอเราก็ต้องชะลอ ก็มีโอกาสเสนอชื่อซ้ำได้
วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่เกี่ยวกับการปฏิบัติของรัฐสภา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและสมาชิกก็ไม่ต้องเสียเวลาโดยใช่เหตุ ประกอบกับอีกเหตุผลหนึ่งว่าองค์ประชุมในวันที่ 27 กรกฎาคม อาจจะมีปัญหา เนื่องจากมีสมาชิกหลายคนแจ้งมาว่าในวันที่ 28 กรกฎาคม จะมีพระราชพิธีสำคัญทุกจังหวัด ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องรีบเดินทางไปเข้าร่วม หากประชุมในวันที่ 27 กรกฎาคม อาจจะกลับไปไม่ทันช่วงเช้า หรือสมาชิกอาจจะไม่มาประชุมเลย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า วันโหวตนายกฯ ครั้งต่อไปจะเริ่มวันที่เท่าไร วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ หากไม่รับคำร้องก็สามารถเปิดการประชุมได้เลย แต่หากศาลรับคำร้องก็จะต้องดูว่าให้ชะลอการประชุมหรือไม่ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอแล้วเราควรจะรอหรือไม่ ก็จะต้องดูสถานการณ์ก่อน เพราะหากรอนานเกินไปก็จะเกิดความเสียหายเหมือนกัน แต่ตนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญคงเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์พิเศษจำเป็นที่จะต้องมีนายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญคงตระหนักและพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว แต่เราก็ไม่สามารถไปคาดคั้นได้
วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง การเปิดประชุมรัฐสภาจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันทีที่สามารถออกหนังสือเรียกประชุมได้ ตนไม่อยากให้เสียเวลาแม้แต่น้อย เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องก็จะเร็วแน่นอน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การเสนอญัตติขอให้ที่ประชุมสภาทบทวนมติที่เคยลงมติไปแล้วสามารถทำได้หรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากมีอีกองค์กรหนึ่งเช่น เช่น รัฐสภา ไปวินิจฉัยด้วยและผลออกมาไม่ตรงกันก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งในการปฏิบัติ ซึ่งความจริงรัฐสภาได้วินิจฉัยไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม มีผู้เห็นแย้งว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตนคาดว่าน่าจะได้ข้อยุติ ไม่ทราบว่ารัฐสภามีความจำเป็นต้องวินิจฉัยหรือไม่ แต่ก็สามารถปรึกษาหารือได้ แต่ต้องดูว่าจะทำได้โดยมีปัญหาหรือไม่อย่างไร เพราะเรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคก้าวไกลมองว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมาแทรกแซงรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากทำแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเขาก็ทำ แต่หากทำแล้วขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญก็ต้องว่ากันอีกที
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องในวันที่ 9 สิงหาคม จะทำได้หรือไม่ เนื่องจากการจัดประชุมรัฐสภาจะต้องแจ้งก่อนอย่างน้อย 3 วัน วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ประธานรัฐสภาสามารถใช้อำนาจในการนัดประชุมวันถัดไปทันทีหลังศาลมีมติไม่รับคำร้อง