ผลการศึกษาร่วมกันของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association: SIA) และ Oxford Economics พบว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานประมาณ 67,000 คนภายในปี 2030
โดยรายงานระบุว่า แรงงานในอุตสาหกรรมชิปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 460,000 คนภายในสิ้นทศวรรษนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 345,000 คนในปีนี้ แต่ด้วยอัตราปัจจุบันที่ผู้คนจบการศึกษาจากโรงเรียนทั่วสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทำให้สหรัฐฯ จะไม่สามารถผลิตแรงงานที่มีคุณสมบัติเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการชิปที่เพิ่มขึ้น
ผลการศึกษาดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคส่วนชิปในประเทศ ซึ่งรวมถึงการออก CHIPS Act ที่มุ่งจัดสรรเงินสำหรับสถานที่ผลิต และการวิจัยและพัฒนาชิปใหม่ๆ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับการลงนามเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม
ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำลังดูแลเงินอุดหนุนการผลิตมูลค่า 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ภายใต้กฎหมายดังกล่าว และบริษัทต่างๆ เช่น Intel, Taiwan Semiconductor Manufacturing และ Samsung Electronics ได้กล่าวว่า ทางบริษัทจะยื่นขอเข้าร่วม อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดเครดิตลดหย่อนภาษีการลงทุน 25% สำหรับการสร้างโรงงานชิปใหม่ คิดเป็นมูลค่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์
SIA ระบุว่า แรงงานขาดแคลนที่คาดการณ์ไว้รวมถึงนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิศวกร และช่างเทคนิค โดยประมาณครึ่งหนึ่งของงานในอุตสาหกรรมชิปในอนาคตจะเป็นวิศวกร
John Neuffer ประธาน SIA ระบุว่า การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ เผชิญมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี การมี CHIPS Act ที่ดึงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์กลับมายังประเทศยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานตึงเครียดหนักขึ้น
ทั้งนี้ การขาดแคลนแรงงานชิปที่มีทักษะเป็นส่วนหนึ่งของการขาดแคลนผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในสหรัฐฯ โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปี 2023 นี้ ตำแหน่งงาน 1.4 ล้านตำแหน่งอาจไม่ได้รับการเติมเต็ม เพราะขาดผู้มีทักษาความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
วันเดียวกัน ทางด้าน Goldman Sachs ได้ออกมาคาดการณ์ว่าอุปสงค์ที่สูงเป็นประวัติการณ์ในตลาดน้ำมันจะผลักดันราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้
โดย Daan Struyven หัวหน้าฝ่ายวิจัยน้ำมันของ Goldman Sachs กล่าวในรายการ Squawk Box Asia ของ CNBC ว่า จะมีการขาดดุลค่อนข้างมากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเป็นการขาดดุลเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากความต้องการน้ำมันพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์”
ทั้งนี้ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในขณะนี้เป็น 86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในสิ้นปีนี้
สำหรับ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนต์มาตรฐานทั่วโลกในปัจจุบัน ซื้อขายลดลง 0.39% ที่ 80.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate ของสหรัฐฯ ลดลงมา 0.42% มาอยู่ที่ 76.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
รายงานระบุว่า ในขณะที่รับทราบว่าการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาเป็น 12.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน Struyven กล่าวว่าอัตราการเติบโตของกำลังการผลิตดังกล่าวจะชะลอตัวตลอดช่วงที่เหลือของปี 2023 นี้
Struyven คาดว่าการเติบโตของอุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยชี้ไปที่การลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้กิจกรรมการขุดเจาะและผลผลิตในอนาคต
ข้อมูลจาก Baker Hughes และ Haver พบว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ลดลง 15% จากจุดสูงสุดในช่วงปลายปี 2022 ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทาง Baker Hughes รายงานว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ลดลง 7 แห่งสู่ระดับ 530 แห่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022
นอกจากนี้ Struyven ยังชี้ว่า การขาดข้อตกลงหลังจากการประชุมรัฐมนตรีพลังงาน G20 บ่งชี้ความไม่แน่นอน ‘อย่างมาก’ เกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันในระยะยาว ดังนั้น ประเด็นสำคัญสำหรับนักลงทุนคือ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนอาจต้องการเบี้ยประกันภัยเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2023 แซงหน้าปีที่แล้วซึ่งเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Joseph McMonigle เลขาธิการของ International Energy Forum แสดงความเห็นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทั้งอินเดียและจีนน่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
อ้างอิง: