วันนี้ (26 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา ประเสริฐ จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาธิการพรรค กล่าวถึงสาเหตุการยกเลิกการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า สิ่งที่ 8 พรรคร่วมฯ มอบหมายให้พรรคเพื่อไทยไปดำเนินการ กระบวนการตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะการเจรจากับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขณะนี้ได้เสียง ส.ว. มาพอสมควร เพิ่มเติมจาก 13 เสียงเดิมของพรรคก้าวไกล สำหรับส่วนของพรรคเพื่อไทย มี ส.ว. บางส่วนกำลังพูดคุย และบางส่วนตัดสินใจได้แล้ว และการรอผลการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ซึ่งในตอนแรกพรรคเพื่อไทยคาดการณ์อยู่แล้วว่าวันที่ 27 กรกฎาคมจะมีการเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการโหวตครั้งต่อไปวันไหนอยู่ที่การตัดสินใจของประธานรัฐสภา
เมื่อผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้าของการเจรจากับ ส.ว. ประเสริฐกล่าวว่า ตอนนี้ได้เสียง ส.ว. มาจำนวนหนึ่งแล้ว และได้มีการพูดคุยกับ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลยังอยู่ด้วยกันปกติ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยประสานงานกับ ส.ว. ด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย และอีกส่วนหนึ่งได้มีการตัดสินใจไปแล้ว จึงอยากให้รอคอยเวลา เพราะตนเองเชื่อว่าขณะนี้ยังมีเวลาอยู่ ซึ่งจากการพูดคุยกับ ส.ว. หลายคน บางส่วนยังมีเงื่อนไขเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตอนนี้ยังไม่อยากคิดว่าการพูดคุยกับ ส.ว. จะไปถึงขั้นไหน ขอไปดูตัวเลขก่อน นอกจากการได้พูดคุยกับ ส.ว. แล้ว พรรคเพื่อไทยยังได้พูดคุยกับ ส.ส. พรรคอื่นด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ 8 พรรคร่วมฯ ต้องมีการพูดคุยกัน โดยตอนนี้ยังมีเวลาอยู่ 1 สัปดาห์
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมองหน้ากันไม่ติดแล้วจริงหรือไม่ ประเสริฐกล่าวปฏิเสธ พร้อมบอกว่า เมื่อวานนี้ได้พูดคุยกับชัยธวัชและ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่ายังเข้าใจกันดี ทุกคนให้การยอมรับ หากพรรคเพื่อไทยนัดประชุมวันไหนก็พร้อมที่จะเข้าร่วม ส่วนที่มีการหารือกับพรรคขั้วตรงข้ามเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับพรรคก้าวไกล ซึ่งจะนำไปพูดคุยในที่ประชุมทีเดียว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการพูดคุยกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ถูกเปรียบว่าเหมือนเป็นการใช้มือเพื่อนในการผลักก้าวไกลออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ประเสริฐยืนยันว่า การเจรจากับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการทำไปตามมติของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้มีการตกลงเพื่อไปขอร่วมรัฐบาล เป็นการพูดคุยเพื่อติดตามสถานการณ์การทางการเมือง และไม่มีการเจรจาขอเก้าอี้รัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งการพูดคุยนั้นได้แจ้งกับพรรคก้าวไกลว่า พรรคเพื่อไทยจะพูดคุยกับ ส.ส. ทุกพรรคการเมือง ก็ถือว่าพรรคก้าวไกลรับรู้แล้ว ซึ่งจากการพูดคุยก็มีการออกสื่อบ่อยบ้างแล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อถามถึงกรณีที่ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยควรร่าง MOU ฉบับใหม่เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประเสริฐกล่าวว่า MOU ฉบับนี้เป็นของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งได้พูดคุยและตกผลึกเป็น MOU ทั้ง 23 ข้อ ส่วน MOU ฉบับที่ 2 เป็น MOU สำหรับสองพรรคการเมือง คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย มีรายละเอียดประมาณ 4 ข้อ ดังนั้น ในส่วนของ MOU ภายหลังจากการหารือ 8 พรรคร่วมฯ จะต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ซึ่งต้องปรับให้สอดคล้องกัน