เศรษฐกิจจีนอาจกำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งการเติบโตชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ภายหลังจากช่วงเวลาแห่งการเติบโตอย่างรวดเร็วตลอด 45 ปีที่ผ่านมา
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเติบโต 6.3% จากปีก่อน เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดหวังของตลาดที่ 7.3% ขณะที่การขยายตัวของ GDP ดังกล่าวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนก็ชะลอตัวลง โดยเติบโต 0.8% เทียบกับการเติบโตของไตรมาสแรกที่ทำได้ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานของกลุ่มคนอายุน้อยระหว่าง 16-24 ปีของจีน เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 21.3% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนแนวโน้มเชิงบวกที่เกิดขึ้นอยู่ในส่วนของการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเร่งตัวขึ้นจาก 3.5% เมื่อเดือนพฤษภาคม เป็น 4.4% ในเดือนมิถุนายน มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
สำหรับเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ในปีนี้คือ 5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตในอดีตที่สูงถึง 9% ต่อปี นับแต่ที่จีนเริ่มเปิดเศรษฐกิจเมื่อปี 1978
Julian Evans-Pritchard หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจจีนของ Capital Economics กล่าวว่า ผู้นำจีนแสดงความกังวลอย่างชัดเจนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมกับระบุถึงปัญหาต่างๆ ที่เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญอยู่ ทั้งในเรื่องของอุปสงค์ในประเทศ หรือปัญหาสภาพคล่องในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ Rory Green หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านจีนและเอเชียของ TS Lombard กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนยังบาดเจ็บจากปัจจัยกดดัน 3 ด้าน ทั้งการระบาดของโควิดและมาตรการที่ลากยาวกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ และการปรับนโยบายคุมเข้มภาคธุรกิจของรัฐบาลจีน
TS Lombard มองว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่การเติบโตชะลอตัวของเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง แม้ว่าจะไม่ได้ถึงขั้นเกิด Stagflation คล้ายกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอดีต แต่มีแนวโน้มที่การเติบโตโดยเฉลี่ยจะขยับเข้าใกล้ 4% ต่อปี ท่ามกลางแรงกดดันต่างๆ
อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ทั่วโลกยังคงต้องพึ่งพาจีนในฐานะตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นเร็วที่สุดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน คือสินค้าโภคภัณฑ์และวัฏจักรอุตสาหกรรม หลังจากที่จีนตัดสินใจที่จะลดการพึ่งการเติบโตจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์
“อดีตของจีนผ่านไปแล้ว จีนยังคงมุ่งลงทุนมหาศาล แต่จะเน้นไปในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง อุปกรณ์เทคโนโลยี ยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์ หุ่นยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันนี้” Green กล่าว
ขณะที่แรงขับเคลื่อนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว จีนอาจจะมีความสำคัญน้อยลงต่อวัฏจักรอุตสาหกรรมโลก แต่บทบาทของจีนที่จะเข้ามาแทนที่ท่ามกลางการเติบโตที่ชะลอตัวลงคืออุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง
อ้างอิง: