×

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไทยควรกังวลแค่ไหน

04.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เผยบัญชีรายชื่อสินค้านำเข้า 1,300 รายการที่สหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีจากจีนเพิ่มในอัตรา 25% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าหมวดเทคโนโลยี รวมมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงโทษจีนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ
  • ความเคลื่อนไหวล่าสุดมีขึ้นหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้น 148 รายการ คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญ โดยแบ่งเป็นภาษีอัตรา 25% สำหรับเนื้อหมูแช่แข็งและอะลูมิเนียม และ 15% สำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ผลไม้สด ผลไม้แห้ง และไวน์
  • ไทยอาจได้รับผลกระทบหากสหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีน โดยเฉพาะสินค้าในห่วงโซ่อุปทานของ 2 ประเทศ โดยไทยอาจเผชิญปัญหาสินค้าบางชนิดไหลทะลักเข้า เนื่องจากประเทศต้นทางต้องการระบายสินค้า แต่ไทยก็อาจได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน หรือได้ประโยชน์ในกรณีที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น

นับว่าเปิดฉากขึ้นแล้วกับการห้ำหั่นอย่างดุเดือดบนสมรภูมิการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เมื่อสองมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 1 และ 2 ของโลกต่างงัดมาตรการภาษีมาตอบโต้อีกฝ่ายอย่างไม่มีใครยอมใคร ท่ามกลางความตื่นตระหนกระคนหวาดวิตกของภาคธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกว่า สงครามการค้าอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก

 

แต่บริบทของสงครามการค้ารอบนี้อาจดูกลับตาลปัตรในมุมมองของคนทั่วไป เมื่อสหรัฐฯ พยายามใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือลงโทษประเทศคู่ค้า จากที่เคยรับบทหัวหอกส่งเสริมการค้าเสรี ในขณะที่จีนซึ่งถูกมองเป็นประเทศที่ปกป้องการค้าสุดขั้วในอดีต กลับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้กับลัทธิกีดกันการค้าทุกรูปแบบ

 

 

สาสน์เตือนจากทรัมป์ถึงจีน เร่งแก้ปัญหาขาดดุลการค้า-ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา

ล่าสุดสำนักงานผู้แทนการค้าประจำทำเนียบขาวได้ประกาศขึ้นบัญชีสินค้านำเข้าจากจีน 1,300 รายการ รวม 5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งจะอยู่ในข่ายถูกเรียกเก็บอากรขาเข้าเพิ่มที่อัตรา 25%

 

มาตรการนี้เป็นผลสืบเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งซอฟต์แวร์ สิทธิบัตร และเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความระหองระแหงระหว่างสหรัฐฯ และจีนเรื่อยมา โดยสินค้าที่อยู่ในรายการเก็บภาษีเพิ่มส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ การบินและอวกาศ เครื่องจักร เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์การเรียนการสอน

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีดังกล่าวจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที เพราะคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้เสียก่อน

 

แต่หากสหรัฐฯ ดำเนินการจริง จะถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่จะนำไปสู่สงครามการค้าที่ดุเดือดยิ่งขึ้น เพราะในปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าในหมวดข้างต้นรวมมูลค่าราว 1.5 แสนล้านเหรียญ โดยส่วนใหญ่เป็นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ดังนั้นจึงน่าจับตาว่าจีนจะตอบโต้อย่างไร

 

ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินใจของสหรัฐฯ ครั้งนี้ พร้อมขู่ตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีอย่างสาสม อีกทั้งเตรียมยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะเข้าข่ายผิดกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ

 

ก่อนหน้านี้ในยกที่ 1 ทรัมป์ได้ลงนามในประกาศมาตรา 232 เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน 25% และ 10% ตามลำดับ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อลดช่องว่างการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยในปีที่แล้ว จีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 5.05 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปจีนเพียง 1.35 แสนล้านเหรียญ

 

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จีนปล่อยหมัดสวนสหรัฐฯ ด้วยมาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้ารวม 148 รายการ คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ในจำนวนนี้รวมถึงปรับขึ้นอากรขาเข้าเนื้อหมูแช่แข็งและอะลูมิเนียมที่อัตรา 25% ขณะที่จีนเป็นตลาดส่งออกเนื้อหมูใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ

 

นอกจากนี้จีนยังเก็บภาษีเพิ่มที่อัตรา 15% กับสินค้าเกษตรหลายชนิดรวมถึงผลไม้แห้ง ผักสด และผลไม้สดอย่างแอปเปิ้ล ลูกเบอร์รี และถั่ว ไปจนถึงไวน์และโสม โดยสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ ส่งออกไปยังจีนมีมูลค่ารวม 2 หมื่นล้านเหรียญในปี 2017

 

 

สหรัฐฯ จะเจ็บหนักถ้าเปิดศึกการค้า

ขึ้นชื่อว่าสงครามย่อมสร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ชนะ สงครามการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ก็เช่นเดียวกัน

 

สำนักข่าว CNBC ทำโพลสำรวจความคิดเห็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าเกือบ 2 ใน 3 (65.8%) ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า กำแพงภาษีของทรัมป์จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทสัญชาติอเมริกันเอง

 

นอกจากนี้เกือบ 87% ยังคิดว่ามาตรการเพิ่มอากรขาเข้าสำหรับสินค้าจีนจะไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะที่มีเพียง 15.8% เชื่อว่านโยบายของทรัมป์จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีน

 

เกมยังไม่จบ นักวิเคราะห์เชื่อจีนยังยั้งมือ

แม้หลายคนจะเชื่อว่าจีนมีอาวุธเด็ดมากพอในการเอาคืนสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์มองว่า ที่ผ่านมาจีนใช้มาตรการภาษีกับสินค้าบางอย่างโดยผ่านการไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบแล้ว และอาจหลีกเลี่ยงใช้มาตรการการค้าที่แข็งกร้าวขึ้น เพราะจีนไม่ต้องการให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลาย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังต้องพึ่งพาการส่งออกในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

 

ประกอบกับจีนยังได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมหาศาล นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ดังนั้นหากสองฝ่ายทำสงครามการค้ากัน จีนอาจจะเป็นฝ่ายที่เสียหายหนักกว่า

 

 

จากนี้ไปจีนมีวิธีตอบโต้เพิ่มขึ้นอย่างไร

นอกจากเนื้อหมูและท่อเหล็กแล้ว จีนมีบัญชียาวเป็นหางว่าวสำหรับสินค้านำเข้าที่จะดำเนินการปรับขึ้นภาษีเพื่อเล่นงานสหรัฐฯ ตั้งแต่สินค้าเกษตรอย่างถั่วเหลืองไปจนถึงเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่จาก Boeing

 

สำหรับถั่วเหลืองนั้น จีนถือเป็นลูกค้าที่รับซื้อถั่วเหลืองจากเกษตรกรสหรัฐฯ มากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 61% ของปริมาณการส่งออกถั่วเหลืองทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว

 

ในทางปฏิบัติ จีนสามารถนำเข้าถั่วเหลืองจากประเทศอื่นในอเมริกาใต้แทน โดยเมื่อปีที่แล้วจีนนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลเพิ่มขึ้นถึง 35% ขณะที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเพียง 2% นอกจากนี้จีนยังเป็นตลาดส่งออกถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดของบราซิล ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าจีนมีทางเลือกอื่นรออยู่ และพร้อมเมินหน้าหนีถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ได้ทุกเมื่อ

 

นอกเหนือจากสินค้าเกษตรแล้ว จีนยังสามารถตอบโต้ด้วยมาตรการการค้าในอุตสาหกรรมการบินได้ด้วย อย่างที่ทราบกันว่าตลาดการบินของจีนมีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วน่าทึ่ง และจะเบียดแซงสหรัฐฯ ขึ้นแท่นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2022 โดยสายการบินจีนมีแนวโน้มสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ใหม่เพิ่มอีก 7,240 ลำ ภายในปี 2037 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

 

เมื่อปี 2015 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ลงนามสั่งซื้อเครื่องบินจากบริษัท Boeing รวมมูลค่าทั้งสิ้น 3.8 หมื่นล้านเหรียญ แต่จีนสามารถยกเลิกคำสั่งซื้อเหล่านี้และหันไปซื้อเครื่องบินจาก Airbus แทนได้ ในขณะที่จีนมีสัญญาจัดซื้อเครื่องบินของภาครัฐรวมมูลค่า 4.9 แสนล้านเหรียญ และไม่มีผลผูกพันกับกฎกติกาของ WTO เนื่องจากจีนไม่ได้ลงนามในกฎเกณฑ์ข้อนี้

 

     

นอกจากเครื่องมือทางการค้าแล้ว จีนยังมีออปชันเสริมในมืออีกมากมาย โดยหนึ่งในนั้นคือการเลือกเทขายสินทรัพย์ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีขึ้นไป และควบคุมค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก

 

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 1.17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ผ่านมาตัวเลขการถือครองมีการเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ แต่นับจนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครองพันธบัตรโดยรัฐบาลจีนได้ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าโอกาสที่จีนจะลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ แบบฮวบฮาบในคราวเดียวนั้นมีไม่มาก แต่ปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือจีนอาจไม่สนใจซื้อพันธบัตรอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสหรัฐฯ อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องออกพันธบัตรมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญในปีงบประมาณปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ โดยตัวเลขขาดดุลดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นไปอีก เนื่องจากนโยบายลดภาษีของทรัมป์และรีพับลิกันทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกพันธบัตรเพิ่มเติมให้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ประชาชนอเมริกัน และธนาคารในสหรัฐฯ

 

 

เงินหยวน-ภาษีส่งออก ไพ่เด็ดจีน?

สหรัฐฯ ในยุคของรัฐบาลทรัมป์วิจารณ์จีนมาตลอดว่าเป็นประเทศปั่นค่าเงิน (Currency Manipulator) หรือจงใจทำให้เงินหยวนอ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาล

 

ไม่ว่าจีนจะปั่นค่าเงินจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะเงินหยวนอ่อนค่าลงจากแรงกดดันของตลาด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนมีกลไกควบคุมเสถียรภาพของเงินหยวนอย่างเข้มงวด และหากจีนกดค่าเงินหยวนให้ต่ำลงหรือเพียงส่งสัญญาณที่จะทำเช่นนั้น ก็ย่อมส่งแรงกระเพื่อมไปยังตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการเห็น

 

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้ง Apple, Microsoft, Intel และ Cisco Systems เองก็เกิดความวิตกและอยู่ไม่เป็นสุข หากรัฐบาลของพวกเขางัดข้อกับจีนอย่างไม่ลดราวาศอก เพราะบริษัทเหล่านี้มีฐานการดำเนินงานและโรงงานผลิตตั้งอยู่ในจีน โดยหนึ่งในมาตรการที่จีนอาจเลือกใช้เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ก็คือการเพิ่มอากรขาออกสำหรับสินค้าของบริษัทเทกอเมริกันที่ผลิตและใช้จีนเป็นฐานส่งออก นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังสามารถจำกัดขอบเขตหรือสร้างอุปสรรคในการลงทุนของบริษัทและนักลงทุนจากสหรัฐฯ ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจีนจะงัดมาตรการไหนมาใช้ ผลเสียย่อมตกอยู่กับผู้บริโภคในประเทศที่ต้องแบกรับต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะปัญหาข้าวยากหมากแพงถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจสั่นคลอนระบอบการปกครองของจีน ในขณะที่จีนต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและต้องการเม็ดเงินลงทุนจากสหรัฐฯ เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ

 

สงครามยักษ์ชนยักษ์สะเทือนไปทั่วโลก ไทยต้องกังวลแค่ไหน

การที่สหรัฐฯ และจีนเปิดศึกการค้าต่อกันยังอาจเป็นชนวนให้ลัทธิกีดกันการค้า (Protectionism) ขยายตัวไปทั่วโลกอย่างหลีกหนีไม่พ้น และปัญหาใหญ่จากกำแพงภาษีก็คือจะทำให้เกิดการเบนทิศทางการไหลของสินค้าไปยังประเทศอื่นแทนเพื่อระบายสต็อกสินค้า ส่งผลให้หลายประเทศอาจต้องเผชิญกับปัญหาสินค้าล้นตลาด ส่วนสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีนก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) มองว่าการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมีเหตุผลเชิงนัยทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง ในด้านเศรษฐกิจ ทรัมป์ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับจีนให้ได้มากที่สุด เพราะในปีที่ผ่านมา จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึงราว 3.7 แสนล้านเหรียญ

 

ส่วนเหตุผลด้านการเมืองคือ ทรัมป์ต้องการแสดงให้เห็นว่ารักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ประกอบกับการเลือกตั้งกลางเทอมกำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ดังนั้นทรัมป์จึงต้องพยายามรักษาฐานเสียงของตนเพื่อรับประกันจำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในสภาคองเกรสต่อไป

 

นอกจากการเมืองในประเทศแล้ว มาตรการภาษีของทรัมป์ยังถือเป็นกลยุทธ์ของทรัมป์ในเกมการเมืองระหว่างชาติมหาอำนาจ เนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้ารอบนี้เจาะจงสินค้าจีนโดยเฉพาะ มิหนำซ้ำทรัมป์ยังบอกว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการเพิ่มอีกในอนาคต

 

ส่วนนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่สหรัฐฯ ประกาศใช้กับหลายประเทศรวมถึงจีน ท้ายที่สุด สหรัฐฯ ก็ได้พิจารณาผ่อนผันลงโดยยกเว้นภาษีให้กับสหภาพยุโรป (EU) ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา และเกาหลีใต้ได้ชั่วคราว ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนความพยายามของทรัมป์ในการสร้างสมดุลให้กับการเมืองภายในเพื่อรักษาฐานเสียงของตน พร้อมกับมัดใจประเทศพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญ เช่น EU แคนาดา เม็กซิโก และออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและกดดันจีนทางจิตวิทยาในสมรภูมิการค้าอย่างสมดุล

 

 

ผลกระทบและโอกาสของสินค้าไทย

EIC มองว่าสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีน อาจได้รับผลกระทบหากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตและจีนได้ส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ข้อมูลจาก EIC ระบุว่า สินค้าที่มีสัดส่วนสำคัญของการส่งออกไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว และมีความเสี่ยงจะถูกเรียกเก็บภาษีด้วย ได้แก่

 

1. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า, กล้องถ่ายรูป, จอ LCD, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์, และ CPU (มีสัดส่วนรวม 23% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) ซึ่งจีนใช้สินค้าดังกล่าวในการผลิตโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และ CPU เพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ  

 

2. พลาสติกขั้นพื้นฐาน (สัดส่วน 10% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) เป็นสินค้าที่จีนใช้ผลิตของเล่นและผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทั้งนี้ จีนอาจนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยน้อยลง เนื่องจากจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน หรือได้ประโยชน์ในกรณีที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น ถึงแม้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าจีนที่จะถูกเก็บภาษีอย่างชัดเจน แต่ทำเนียบขาวระบุว่าจะพยายามจำกัดผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคสหรัฐฯ ให้น้อยที่สุด

 

ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะเลือกเก็บภาษีในสินค้าที่สามารถนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทนได้ ทำให้สินค้าจากไทยบางชนิดอาจส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไทยส่งไปให้สหรัฐฯ ในสัดส่วนกว่า 48% ของยอดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทั้งหมด

 

นอกจากนี้การเล็งเก็บภาษีจากจีนเพียงประเทศเดียวก็อาจบีบให้บริษัทจีนพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนโดยหันไปขยายกำลังการผลิตในประเทศอื่นแทน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จีนอาจเข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าและใช้ไทยเป็นฐานส่งออก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะช่วยให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

 

หากเปรียบเชิงมวยของทั้งคู่ สหรัฐฯ เป็นฝ่ายรุกประชิดสาวหมัดใส่จีนตั้งแต่เสียงระฆังดังยกแรก ขณะที่จีนตกเป็นฝ่ายรับและคอยตั้งการ์ดปล่อยหมัดสวนเป็นระยะ แต่ศึกครั้งนี้ใครจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำยังไม่มีใครรู้แน่ชัด และคงต้องติดตามไปจนถึงยกสุดท้าย แต่ที่แน่ๆ คือศึกนี้ช่างหนักหนาสาหัส ทั้งคู่ต่างน่วมพอๆ กัน และผู้ที่เดือดร้อนก็คือประชาชนผู้บริโภคทั้งหลาย

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X