ตั้งแต่เริ่มต้นทำข่าวกีฬาจากการเป็นผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ มาจนถึงการทำงานข่าวออนไลน์วันนี้ ก็นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ก็นับเป็นครั้งแรกที่ผมเองเคยเห็นเกมระดับโลกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ถูกยกเลิกการแข่งขันต่อหน้าต่อตา
ภาพที่ผมเห็นแตกต่างจากไปสิ่งที่วางแผนไว้กับทีมงานทั้งหมด เพราะแทนที่เราจะได้เห็นภาพนักเตะระดับโลกลงแข่งขันกันในราชมังคลากีฬาสถาน หนึ่งในสนามกีฬาหลักของไทย
เรากลับได้เห็นนักเตะของทั้งสองทีมเดินออกจากห้องแต่งตัวในสภาพที่ไม่พร้อมแข่งขัน บ้างใส่รองเท้าแตะ บ้างก็ใส่ชุดวอร์มออกมาเพื่อเดินรอบสนามขอบคุณแฟนบอลสำหรับเกมที่พวกเขาไม่สามารถลงแข่งขันได้ เนื่องจากสภาพสนามไม่พร้อม และไม่ปลอดภัยสำหรับการแข่งขัน
ซนฮึงมิน นักเตะระดับโลกจากสเปอร์ส ด้วยท่าเดินที่พยายามยกเท้าหนีแอ่งน้ำที่เกิดขึ้นในราชมังคลากีฬาสถาน หลังเกมถูกยกเลิกเพราะสภาพสนามไม่ปลอดภัย
การตัดสินใจร่วมกันของทั้ง 2 สโมสรนับว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ในเมื่อสภาพสนามสำหรับการแข่งขันไม่ปลอดภัย และมีโอกาสที่จะทำให้นักฟุตบอลของพวกเขาได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับสโมสรที่ตัดสินใจยกเลิกการแข่งขัน แม้ว่าจะต้องเสียแมตช์อุ่นเครื่องก่อนเปิดฤดูกาลตามโปรแกรมไปเลยถึงหนึ่งเกมก็ตาม
แต่เราอยากพาทุกท่านไปสำรวจกันก่อนว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างจนทำให้เกมต้องถูกยกเลิก
สเปอร์ส-เลสเตอร์ เกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนถูกยกเลิก
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งครั้งที่กรุงเทพมหานครได้ทำการต้อนรับสโมสรจากยุโรป ที่เดินทางมาอุ่นเครื่องต่อหน้าแฟนบอลชาวไทย และเป็นช่วงเวลาประมาณ 1 ปีพอดีที่ราชมังคลากีฬาสถานได้ทำการต้อนรับสโมสรจากอังกฤษ ที่เดินทางมาแข่งขันกันเอง ต่อจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เอาชนะลิเวอร์พูลไปได้ 4-0 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2022 ในรายการ THE MATCH: Bangkok Century Cup 2022
มาปีนี้เป็น ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เพิ่งตกชั้นลงไปเล่นในลีกแชมเปียนชิปมาลงสนามพบกันเองต่อหน้าแฟนบอลชาวไทย
แม้ว่ากระแสความนิยมและกระแสข่าวจะแตกต่างจากเกมเมื่อปีก่อนอย่างชัดเจน ด้วยสิ่งที่ต้องยอมรับว่า สเปอร์สและเลสเตอร์มีฐานแฟนคลับในไทยน้อยกว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูลอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่พบเห็นตั้งแต่สโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และเลสเตอร์ ซิตี้มาถึง คือการเปิดโอกาสให้แฟนกีฬาชาวไทยเข้าถึงนักเตะได้อย่างเต็มที่
ทั้งการที่ แฮร์รี เคน ศูนย์หน้าเบอร์หนึ่งของทีม ไปร่วมทำกิจกรรมฟุตบอลคลินิก ไปจนถึงกิจกรรม Golden Circle ที่แฟนไก่เดือยทองได้ใกล้ชิดกับนักเตะ หลังการฝึกซ้อมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม
ในแง่ของการเตรียมทีม อังเก ปอสเตโคกลู ก็ฝึกซ้อมนักเตะอย่างหนักหน่วงท่ามกลางสายฝนที่ราชมังคลากีฬาสถานในวันเดียวกัน
มาถึงวันแข่งขันสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็เกิดขึ้น เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. หนึ่งชั่วโมงก่อนแข่ง
ทำให้ทีมต้องออกมาวอร์มกันท่ามกลางสายฝน
เมื่อเวลาแข่งขันใกล้เข้ามาสถานการณ์เริ่มแปลกยิ่งขึ้น เมื่อเรายังเห็นเจ้าหน้าที่สนามทำการรีดน้ำออก และมีทีมงานของสเปอร์สและเลสเตอร์พูดคุยกันกลางสนาม
รวมถึงมีโค้ชมาทดลองโยนลูกฟุตบอลลงพื้นสนาม และพบว่าลูกหยุดนิ่งในน้ำที่ท่วมอยู่ในสนาม
เมื่อเวลาราว 17.15 น. การเลื่อนการแข่งขันออกไปจึงเป็นสิ่งแรกที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมจึงเดินไปสอบถามทั้งเจ้าหน้าที่ฝั่งเลสเตอร์และสเปอร์ส
ก่อนจะทราบว่าทางฝั่งเลสเตอร์ไม่มีปัญหาที่จะรอฝนหยุด หรือเลื่อนการแข่งขันในเกมนั้น เนื่องจากกำหนดการก่อนหน้านี้ของพวกเขาต้องมีเกมอุ่นเครื่องในไทยอีกนัด แต่ก็ถูกยกเลิกไป ทำให้มีเวลาเหลือเพิ่มขึ้น
แต่ทางฝั่งสเปอร์สพวกเขามีกำหนดการที่แน่นกว่ามาก เนื่องจากทั้งจองตั๋วเครื่องบิน และมีกำหนดการว่าต้องเดินทางต่อทันที และไปถึงสิงคโปร์แล้วต้องลงซ้อมทันทีเช่นกัน ทำให้การเลื่อนการแข่งขันดูมีโอกาสเป็นไปได้ยากมาก ตอนเวลา 17.20 น.
หลังจากนั้นเมื่อเห็นภาพนักเตะของทั้งสเปอร์สและเลสเตอร์เดินออกมาในสภาพไม่พร้อมแข่ง ไม่ต้องรอให้โฆษกสนามประกาศก็ทราบกันดีว่านี่คือการเดินขอบคุณแฟนบอล และยกเลิกการแข่งขันอย่างเป็นทางการ พร้อมเหตุผลที่ว่าสภาพสนามไม่พร้อมสำหรับการแข่งขัน
ราชมังคลากีฬาสถาน ย้อนไปเมื่อ 1 ปีก่อนทำไมแข่งได้?
ต้องยอมรับว่า THE MATCH: Bangkok Century Cup 2022 มีการลงทุนจำนวนมากสำหรับการแข่งขันในเกมระหว่าง ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทั้งการปรับโฉมสนามใหม่ และการปูหญ้าชนิดเดียวกับที่ใช้ในฟุตบอลอังกฤษ ให้สนามพร้อมสำหรับการต้อนรับ 2 ทีมจากเกาะอังกฤษ
โดยการแข่งขันในเกมนั้นมีฝนตกลงมาอย่างหนัก (จนทำให้โทรศัพท์มือถือผมเองเสีย) ก่อนเกมจะเริ่มต้นขึ้น แต่สิ่งที่ฝ่ายจัดในครั้งนั้นได้เตรียมเพิ่มคือการปูผ้าไว้สำหรับการแสดงของ แจ็คสัน หวัง และมิลลิ ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น
และเมื่อการลงทุนมาพร้อมกับการเตรียมความพร้อมสำหรับสภาพภูมิอากาศ ทำให้สุดท้ายการแข่งขันก็เกิดขึ้นได้ตามกำหนด และทำให้กลายเป็นแมตช์ที่หลายคนชื่นชม โดยเฉพาะเรื่องของการแปลงโฉมราชมังคลากีฬาสถานให้เป็นสังเวียนระดับสากลได้ในเกมนั้น
ต่อมาสนามฟุตบอลแห่งนี้ ได้เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นเวทีคอนเสิร์ต ต้อนรับอีเวนต์ขนาดใหญ่หลายงาน ทั้ง คอนเสิร์ต Maroon 5 World Tour, งานประกาศรางวัล Golden Disc Awards 2023, Harry Styles Love on Tour 2023 และ BLACKPINK World Tour 2023 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
แน่นอนว่าการปล่อยสนามให้เช่าเพื่อสร้างรายได้ให้กับสนามกีฬา เป็นสิ่งที่ใช้คำว่าใครๆ ก็ทำกัน และไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การปล่อยเช่าในแต่ละครั้งมีเงื่อนไขอย่างไรกับผู้เช่าบ้างว่า ต้องดูแลสภาพสนามหญ้า รวมถึงระบบระบายน้ำภายในสนามด้วยหรือไม่
ถ้าหากมีแล้ว สิ่งที่ต้องถามต่อคือ หญ้าภายในสนามกีฬาหลักของไทยได้รับการดูแลตามความเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะจากสภาพที่เราพบเห็นจากการเดินลงไปถ่ายภาพในสนาม พบทั้งช่องระบายน้ำที่โดนกลบทับบริเวณลู่วิ่งเริ่มพัง และทะลุลงไปด้านล่าง
รวมถึงการที่ 1 ปีก่อน ฝ่ายจัดใช้ผ้าคลุมสนามหญ้าก่อนการแข่งขันในช่วงที่มีการแสดงและช่วงที่มีฝนตก จนทำให้สนามไม่มีน้ำขังอยู่ในพื้นที่ ทำไมในการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ จึงไม่ใช้วิธีนี้ในการแก้ไขสถานการณ์ที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเวลา 16.00 น. หนึ่งชั่วโมงก่อนการแข่งขัน
จนถึงคำถามที่สำคัญที่สุด เราให้ความสำคัญกับสนามกีฬาหลักของไทยมากน้อยขนาดไหน?
สนามกีฬา ความหมายที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ
สนามกีฬาแห่งชาติ หรือสนามกีฬาลีกหลายแห่งที่ผมมีโอกาสเดินทางไป ตั้งแต่สนามมาราคานา ที่รีโอเดจาเนโร บราซิล โอลิมปิกปี 2016 สนามลุจนีกี ฟุตบอลโลกปี 2018 ไปจนถึงโตเกียวโอลิมปิกสเตเดียม ปี 2021 ที่ผ่านมามีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน และต่างก็พบเจอความท้าทายในรูปแบบของตัวเอง
มาราคานา สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ประเทศบราซิลที่ขึ้นชื่อว่าฟุตบอลเป็นศาสนา ประจำชาติ เมื่อความต้องการของคนในประเทศมีสูง การสร้างสนามกีฬาระดับโลกจึงเป็นความเหมาะ และเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกในบราซิลเมื่อปี 1950
เช่นเดียวกับสนามลุจนีกี สนามที่สร้างขึ้นด้วยเป้าหมายการพัฒนานักกีฬาของสหภาพโซเวียตในช่วงปี 1950 จนกลายเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่สุดในประเทศรัสเซีย และใช้สำหรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1980 และเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2018
ไปจนถึงสนามกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น สนามที่ตอนแรกจะใช้ ซาฮา ฮาดิด สถาปนิก เป็นผู้ออกแบบ แต่สุดท้ายใช้สถาปนิกญี่ปุ่นออกแบบแทน เนื่องจากงบประมาณที่บานปลาย ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนสมัยที่ 2 ในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2021
เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่สร้างสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ขึ้นมา เพื่อเป็นสนามเหย้าสำหรับฟุตบอลทีมชาติสิงคโปร์ และสังเวียนสำหรับการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ปี 2015
สิ่งที่ทำให้สนามสิงคโปร์คล้ายกับไทย คือสภาพภูมิอากาศของอาเซียนที่มีความร้อนชื้น และพบเจอกับหน้าฝนในช่วงเวลาที่ฟุตบอลสโมสรยุโรปจะเดินทางมาพรีซีซันกัน
ทำให้สนามของพวกเขามีหลังคาพร้อมรองรับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
สนามกีฬาจึงเป็นเพียงภาพสะท้อนของความต้องการ ทั้งผู้คนในประเทศ และทิศทางการบริหารของผู้มีอำนาจว่าจะให้ความสำคัญกับกีฬามากน้อยแค่ไหน
เมื่อสองความต้องการมาพบเจอกัน เราจึงได้เห็นสนามกีฬาที่มีมาตรฐานระดับสากล ที่ไม่ใช่เพียงแค่จัดการแข่งขันฟุตบอลระดับโลก แต่เป็นสถานที่ที่พร้อมสำหรับอีเวนต์ ทั้งคอนเสิร์ตและโชว์ระดับโลก มาสร้างรายได้ในประเทศเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยมีสนามกีฬาที่มีมาตรฐานสากลอยู่หลายสนาม แต่สำหรับสนามกีฬาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสนามกีฬาหลักของไทย และมีมาตรฐานสากลตอนนี้มีแห่งใดบ้าง?
สนามศุภชลาศัย อาจเรียกตรงๆ ไม่ได้ว่าสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับสากล เพราะสนามแห่งนี้มีจุดประสงค์แรกคือการเป็นกรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ราชมังคลากีฬาสถาน และสนามกีฬาธรรมศาสตร์ รังสิต ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็อยู่ในสภาพที่เก่า และเชื่อว่าการจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นสนามมาตรฐานสากลครั้งใหญ่ก็ต้องอาศัยการออกแบบและการลงทุนมหาศาล เหมือนกับคำพูดที่ช่างซ่อมบ้านบางคนก็จะแนะนำว่า ‘สร้างถูกกว่าซ่อม’
เพราะการซ่อมแซมสิ่งที่ออกแบบให้กับการใช้งานเมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ต้องอาศัยการปรับปรุงเกือบทุกอย่างในสนาม
เนื่องจากสิ่งที่สนามกีฬายุคใหม่เท่าที่มีโอกาสไปสัมผัสมาควรจะต้องมี ประกอบไปด้วย
- พื้นสนามที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจุดประสงค์ของสนาม (กีฬาหรือคอนเสิร์ต)
- หลังคาสำหรับสภาพอาการที่เปลี่ยนแปลง
- ห้องน้ำที่ทั่วถึง
- ที่นั่งที่เหมาะสมสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
- สิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการและผู้สูงอายุ ให้เข้าถึงสถานที่ต่างๆ ของสนาม
- จอแสดงผลการแข่งขันขนาดใหญ่
- ขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก
แต่สิ่งที่ต้องตัดสินใจหากจะสร้างใหม่คือ
- สถานที่ตั้งของสนาม
- สนามจะใช้เพื่อจุดประสงค์อะไรที่ตอบโจทย์สำหรับการสร้างรายได้ และพัฒนาการให้กับผู้คนในประเทศ
- ใครเป็นคนลงทุน
- ใครมีอำนาจในการตัดสินใจบริหารสิทธิประโยชน์ของสนามแห่งใหม่นี้
การสร้างหรือปรับปรุงสนามกีฬา เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหลายแห่งในยุโรป ทั้ง เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ที่เตรียมทุบสนามซานซิโร และสยามคัมป์นูของบาร์เซโลนาที่กำลังถูกรถเครนรื้อถอนปรับปรุงบางส่วนเพื่อเพิ่มความจุของสนามจากเดิม 99,354 ที่นั่ง เป็น 105,000 ที่นั่ง
ในส่วนของโมเดลการหารายได้มาตอบโจทย์การสร้างสนามนั้นก็มีให้เห็นหลากหลายรูปแบบ ทั้งอเมริกันเกมส์ที่ให้แฟรนไชส์เสนอแผนกับสภาเมือง และลงทุนสร้างเพื่อประโยชน์ร่วมกันขององค์กรกีฬาและประชาชนในเมืองนั้น
รวมถึงการใช้ Title Sponsor อย่าง เอมิเรตส์ ที่จ่ายค่าสปอนเซอร์เป็นเม็ดเงิน 100 ล้านปอนด์ ในสัญญาการสนับสนุนเป็นเวลา 7 ปี เพื่อสิทธิในการใช้ชื่อสนามเอมิเรตส์ สเตเดียม ของอาร์เซนอล และต่อสัญญาไปถึงปี 2028
ไปจนถึงสิงคโปร์และกัมพูชา ที่ลงทุนสร้างสนามกีฬาแห่งชาติขึ้นเพื่อการแข่งขันซีเกมส์
ไทยเองก็สามารถใช้โอกาสนี้ได้ หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนกับการแข่งขันซีเกมส์ในปี 2025 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสงขลา
แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับสองสิ่งที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่า ความต้องการสนามกีฬาระดับโลก และผู้มีอำนาจตัดสินใจ ที่ต้องเห็นความสำคัญและมองเห็นแผนการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับการลงทุนสร้างหรือซ่อมสนามกีฬาหลักของไทย ให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น
เพราะสุดท้ายแล้ว เสียงวิจารณ์ อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเกมสเปอร์สและเลสเตอร์ ซิตี้ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ก็จะเหมือนกับน้ำตาความเสียใจของแฟนบอลในสายฝน ที่มีเพียงคนที่ไปสนามเท่านั้นที่จะเข้าใจว่าการเห็นทีมโปรดที่กำลังจะลงเตะยกเลิกการแข่งขันต่อหน้าต่อตารู้สึกอย่างไร