วันนี้ (21 กรกฎาคม) ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้มีการประชุมเพื่อจะกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะจัดประชุม โดยเหตุผลที่ต้องเลื่อนออกไปเพราะการประชุมครั้งที่ผ่านมามีการกำหนดจำนวนสมาชิกเพื่อให้เป็นองค์ประชุมใหญ่เพิ่มเติม จากนั้นก็มีกรรมการบริหารพรรคได้ลุกขึ้นเสนอให้มีการกำหนดจำนวนองค์ประชุมเพิ่มจากที่มีเพิ่มขึ้นจากทุกภาค ภาคละ 25 คน
จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหารในวันนี้ก็จะพิจารณาออกระเบียบข้อบังคับที่จะกำหนดวิธีการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นองค์ประชุมใหม่ จากนั้นก็จะต้องทำหนังสือแจ้งต่อองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 5 วัน ตามข้อบังคับ
ส่วนผู้ที่เสนอให้เพิ่มองค์ประชุมคือ วิรัช ร่มเย็น นายทะเบียนพรรค โดยได้เปิดให้ที่ประชุมลงมติยืนยันว่าทางพรรคอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรค ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ที่ประชุมวันนี้น่าจะมีการพูดคุยกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค มีความต้องการจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ราเมศกล่าวว่า ไม่อยากให้มีการรายงานข่าวในลักษณะนี้ เพราะพรรคจะเกิดความเสียหายได้ อีกทั้งประชาชนจะสับสนว่าพรรคมีกฎเกณฑ์กติกาในการร่วมรัฐบาลอย่างไร พร้อมยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ต้องผ่านการพิจารณาเป็นวาระที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าใครจะใช้อำนาจโดยพลการ ไปตกลงปลงใจ กำหนดว่าจะร่วมรัฐบาลกับใคร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงรายงานข่าวอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือมีการอ้างว่าเพจของพรรคโพสต์ว่ามี 16 ส.ส. ของพรรคปันใจให้กับพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่าทางเพจของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยพูดถึงเรื่องเหล่านี้ การเขียนวิเคราะห์ในลักษณะนี้เป็นสิทธิก็จริง แต่ไม่ได้เป็นจริง พร้อมย้ำว่า ส.ส. 16 คนของพรรคอยู่ภายใต้ข้อบังคับพรรค และจะดำเนินกิจการทางการเมืองในทิศทางใดก็แล้วแต่ก็ต้องประชุมหารือเพื่อให้เกิดเป็นมติของพรรค ส่วนทางพรรคคงไม่ฟ้องร้องในเรื่องนี้ แต่ตนในฐานะโฆษกของพรรคมองว่าพรรคจะมีมติในการร่วมรัฐบาลหรือเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร คงจะตอบไม่ได้ แต่ในอนาคตหากมีการได้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้วจะมีมติอย่างไรในเรื่องดังกล่าว ตนเองก็จะเป็นคนแจ้งกับสื่อมวลชนต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการเลือกกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ตัดสินใจเรื่องการร่วมรัฐบาลอย่างรวดเร็วหรือไม่ ราเมศกล่าวว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ เป็นไปตามข้อบังคับ เพื่อความละเอียดรอบคอบ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีหัวหน้าพรรคคนใหม่แล้วจะชี้ให้เห็นถึงจุดยืนในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ราเมศระบุว่า การเลือกหัวหน้าพรรคเป็นกระบวนการของพรรค ไม่ได้เกี่ยวกับจุดยืน อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนที่ชัดเจนมาตลอดว่าดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไปในทิศทางใด โดยยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งสังคมอาจจะตั้งคำถามได้ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนท่าทีหรือไม่ ตนเองก็ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะก็ต้องผ่านการประชุมกับทั้ง 2 ภาคส่วน คือส่วนของ ส.ส. และคณะกรรมการบริหารพรรค
ราเมศยังกล่าวอีกว่า สำหรับการแข่งขันในการเลือกหัวหน้าพรรคนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การดึงเชิงกัน แต่ความเป็นสถาบันทางการเมืองไม่มีใครสั่งใครมาเป็นหัวหน้าพรรคได้ เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อมีความเป็นประชาธิปไตยและมีการนำเสนอหัวหน้าพรรคหลายคนจึงต้องมีการหาเสียงกันเป็นเรื่องปกติ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของพรรคหลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ได้พูดชัดเจนถึงจุดยืนเกี่ยวกับการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ราเมศกล่าวย้ำว่า พรรคมีจุดยืนมาโดยตลอดกับการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เรายังมีรายละเอียดอีกเยอะในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการจะยกมือให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมาดูว่านโยบายของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้นตรงกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
ราเมศยังกล่าวอีกว่า การจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเราต้องฟังเสียงจากประชาชนที่เลือกเรามา โดยยกตัวอย่างการที่พรรคไม่ได้มีมติเห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เพราะพรรคฟังเสียงประชาชนที่เลือกพรรคมา ดังนั้นการจะเลือกเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องฟังเสียงประชาชนที่เลือกพรรคมาเช่นเดียวกัน และคงจะมีการประชุมอีกครั้ง โดยพิจารณาหลายๆ ส่วนว่าจะยกมือโหวตให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี