วันนี้ (21 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติที่ประธานรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้ง 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมว่า ในวันนั้นมีการอภิปรายกว่า 6 ชั่วโมง เกี่ยวกับข้อบังคับที่ 41 ว่า สามารถเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลได้หรือไม่ และก่อนที่จะมีการลงมติ 395 เสียงไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้
วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า การประชุมรัฐสภาในวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการประชุมนั้นมีข้อคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในบางประเด็น ซึ่งแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าไม่ควรเสนอชื่อเพราะมองว่าเป็นญัตติซ้ำ ส่วนอีกฝ่ายมองว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ญัตติทั่วไป ดังนั้นไม่ควรใช้ตามข้อบังคับที่ 41 ของรัฐสภา
วันมูหะมัดนอร์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการเชิญวิป 3 ฝ่ายเพื่อให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีการหารือร่วมกัน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรได้ส่งฝ่ายกฎหมายไปศึกษาประเด็นข้อแตกต่างของการใช้ข้อบังคับไปพิจารณา และปรากฏว่าทีมกฎหมายก็มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายเช่นกัน
พร้อมทั้งมีมติ 8 ต่อ 2 เห็นว่า ไม่ควรเสนอเป็นญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับที่ 41 ส่วนอีก 2 เสียงบอกว่า การเสนอนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติทั่วไป กล่าวคือไม่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ แม้จะมีการมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอความคิดเห็นในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ซึ่งการประชุมในวันดังกล่าว มีการอภิปรายหลายชั่วโมง แม้จะมีบุคคลที่เสนอว่าควรจะใช้ข้อบังคับที่ 151 มาประกอบกันก็จะทำให้ได้ข้อยุติ แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
ประธานสภาจึงเห็นว่า เมื่อไม่สามารถหาข้อยุติได้ คือต้องมีการตีความ ซึ่งการตีความดังกล่าวจะเป็นการขัดแย้งรัฐธรรมนูญที่มีศักดิ์ใหญ่กว่าหรือไม่ ตำแหน่งประธานรัฐสภาไม่สามารถวินิจฉัยได้ ซึ่งเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ โดยทางออกสำหรับประธานรัฐสภาคือ ให้นำข้อบังคับที่ 41 มาประกอบการพิจารณาในที่ประชุม มีการประชุมไปอีก 3 ชั่วโมง และเมื่อไม่มีคนที่ต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมแล้ว จึงให้มีการลงมติเพื่อโหวตเรื่องดังกล่าว โดยมีมติ 395 ต่อ 312 เสียง จึงถือมติเสียงข้างมาก เห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำในข้อบังคับที่ 41
วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า หลังจากที่มีการฟังการอภิปรายมาตลอดทั้งวัน และ 395 เสียงได้ลงมติแล้ว ยืนยันว่าปฏิบัติตนเป็นกลางในทางการเมือง ไม่ได้ฝักใฝ่ทางใดทางหนึ่ง และปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับแล้ว
“ผมปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว ส่วนทัวร์จะลง ใครผิดหรือใครคิดอย่างไรก็เป็นเรื่องของความคิดของแต่ละคน ทุกคนสามารถมีความคิดที่แตกต่างกันได้ แต่ผมยึดถือเสมอว่า เมื่อทำหน้าที่แล้วต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เป็นกลางที่สุด และได้นายกรัฐมนตรีตามที่ประชาชนต้องการ มีหลายคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา การจะตัดสินใจใดๆ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ ไม่สามารถเห็นไปในทางเดียวกัน เป็นไปได้ยาก พร้อมรับฟังทุกอย่าง ยืนยันว่าเป็นสิทธิของทุกคน” วันมูหะมัดนอร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ามติดังกล่าวไม่ถูกต้อง ประธานรัฐสภากล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วว่าการประชุมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันกับทุกองค์กร จะสามารถเสนอชื่อพิธาไปทางใดอีกหรือไม่นั้นอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาล
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ยังเป็นตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 27 กรกฎาคมหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ได้มีการออกหนังสือไปแล้วว่าจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ และจะมีการประชุมวิป 3 ฝ่ายวันที่ 26 กรกฎาคม เวลา 14.00 น.