วันนี้ (20 กรกฎาคม) เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยจะมีการพูดคุยภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 เมื่อวานนี้ (19 กรกฎาคม) ส่วนจะมีความชัดเจนในการเสนอชื่อเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีวันนี้หรือไม่นั้นยังไม่ทราบ คงต้องรอหารือในที่ประชุมก่อน
เมื่อถามว่า เสียง ส.ว. ชัดเจนว่าไม่เอาพรรคก้าวไกล การตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะยังมีพรรคก้าวไกลหรือไม่ เศรษฐาระบุว่า ต้องให้คณะเจรจาไปพูดคุยกัน แต่ก็อาจจะเป็นไปในทิศทางนั้น และตอนนี้เรายังมีข้อตกลงระหว่าง 8 พรรคอยู่ ก็ต้องพูดคุยและให้เกียรติทั้ง 8 พรรคที่ร่วมเจรจา ขอเวลาอีกนิดหนึ่ง
เมื่อถามว่า เมื่อถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล เศรษฐาพร้อมเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า รายชื่อผู้ถูกเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคมี 3 รายชื่อ ต้องให้กรรมการบริหารพรรคเป็นคนเคาะก่อน ส่วนกระแสว่าน้ำหนักผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือเศรษฐา เจ้าตัวยอมรับว่าก็เป็นไปในลักษณะนั้น แต่ก็มีแคนดิเดตอีกหลายท่านจากหลายพรรค เชื่อว่าหลายคนก็มีความพร้อมเหมือนกัน
เศรษฐายังย้ำว่า ณ จุดนี้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยังเหนียวแน่นจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และขณะนี้ก็ยังไม่มีการพูดคุยกัน และเชื่อว่าคณะเจรจาจะพูดคุยกันโดยเร็ว ไม่เย็นนี้ก็พรุ่งนี้ ก็คงมีแนวทางออกมา ส่วนแกนนำจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือไม่ก็คงต้องรอดู
เมื่อถามว่า การผลักดัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีของ 8 พรรคร่วมมาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า ตามที่ฟังดูทางด้านกฎหมายก็น่าจะเป็นอย่างนั้น
ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีเหมือนจะเป็นบรรทัดฐานว่า 1 แคนดิเดตสามารถโหวตได้แค่ 1 ครั้ง การจะเสนอชื่อเศรษฐาในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ประเมินว่าการมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมด้วยหรือไม่ แบบไหนจะส่งผลดีกว่ากันนั้น เศรษฐากล่าวว่า เรื่องการโหวตครั้งเดียวถือเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่ง ตนมองว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปเป็นบรรทัดฐาน การเสนอชื่อต่อไปต้องคิดให้ดี ต้องเจรจาให้เหมาะสม
เมื่อถามว่า มองว่ายังควรจับมือไปด้วยกันกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า ต้องให้เกียรติคณะเจรจา
ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้มาตรา 112 เป็นปัญหาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 เศรษฐากล่าวว่า เรื่องมาตรา 112 ต้องไม่อยู่ในการแก้ไขหรือยกเลิก ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. และอีกหลายพรรค ซึ่งคณิตศาสตร์ค่อนข้างพื้นฐานมาก นับดูก็รู้ว่าเรื่องอะไร
ส่วนวิธีไหนที่จะทำให้มาตรา 112 ไม่อยู่ในเงื่อนไข ให้คนเข้าใจเพื่อไทยว่าไม่ได้หักก้าวไกล ตนคงพูดแทน 8 พรรคไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน พรรคเพื่อไทยต้องพูดคุยกัน หากจะเป็นแกนนำเรื่องนี้คงต้องพูดคุยกัน และไม่แน่ใจว่าจะต้องถกกันหนักกับพรรคก้าวไกลเรื่องมาตรา 112 หรือไม่ เพราะตนไม่ได้อยู่ในคณะเจรจา แต่หากถามโดยส่วนตัว ถ้ามีมาตรา 112 อยู่ก็คงไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายพรรค
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เศรษฐากล่าวว่า คิดว่าเรื่องนี้จะล้ำหน้าไปนิดหนึ่ง ต้องให้เกียรติ 8 พรรคร่วม และปัจจุบัน 8 พรรคก็มีเสียงเยอะอยู่แล้ว แต่ต้องมาพูดคุยกันด้วยว่าจะเอาอย่างไร
เมื่อถามว่า ยังยืนยันตามกรรมการบริหารพรรคไม่ว่าจะมีมติอย่างไร พร้อมที่จะตามใช่หรือไม่ เศรษฐาตอบสั้นๆ ว่า “ครับ”
ส่วนทางที่ดีที่สุดที่จะได้เสียงเพิ่มเติมในการตั้งรัฐบาล เศรษฐากล่าวว่า เสียง ส.ว. ถือเป็นส่วนที่สำคัญ ถ้าจะเอามาหนุนในการโหวตนายกรัฐมนตรีก็เป็นภาคส่วนที่สำคัญ ส่วนตัวรู้จัก ส.ว. แค่ 2 คน คงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของหลักการมากกว่า หากหลักการตกลงกันได้และพูดคุยกันรู้เรื่องก็จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ตนคิดว่าอย่าข้ามขั้นดีกว่า เพราะเรายังผูกมัดอยู่กับ MOU ต้องให้เกียรติคณะเจรจาว่าจะทำอย่างไรกันต่อ หากเจรจาแล้วเห็นเป็นอื่นก็ต้องกลับมาคุยในพรรค จึงจะพิจารณาขั้นตอนต่อไปว่าจะไปอย่างไร ไปกับใคร
เมื่อถามว่า คิดหรือไม่ว่าเกมบีบให้พรรคเพื่อไทยต้องข้ามขั้ว เศรษฐากล่าวว่า ถ้าผมต้องตอบคำถามนี้ อย่างไรก็ต้องคิดอยู่แล้วเป็นธรรมดา ไม่ได้มีโจทย์อะไรที่ซับซ้อนมาก ต่างคนก็ต่างคิดไป แต่สำคัญที่สุดคือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ คือกรรมการบริหารพรรคและคณะเจรจา ส่วนเรามีหน้าที่ก็ต้องทำตาม ซึ่งวันนี้ตนเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องเศรษฐกิจที่พรรคมอบหมายมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือเป็นแกนนำ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนต้องทำ ก็เป็นเหตุผลที่ตนเข้ามาในพรรค นอกเหนือจากการพูดคุยกับผู้ใหญ่
ขอให้ใจเย็นๆ 8 พรรคยังคุยกัน การที่จะเปลี่ยนแปลง มีการข้ามขั้วหรือมีพรรคอื่นมาเสริม ก็ต้องให้เกียรติกับคณะเจรจา ใจเย็นๆ ดีกว่า ยังมีอีกหลายวันก่อนจะถึงวันที่ 27 กรกฎาคม คอยกันมานานขนาดนี้แล้ว แต่ทำอะไรก็ต้องให้เกียรติพรรคร่วมที่ทำงานกันมา ซึ่งผลการโหวตเมื่อวานนี้ก็น่าผิดหวัง ต้องยอมรับและเดินต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีสูตรผลักก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ยังมองว่าต้องจับมือก้าวไกลไปจนสุดทางไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าสุดทางคืออะไร สุดทางคือพรรคก้าวไกลไม่สามารถเสนอนายกรัฐมนตรีได้แล้ว นี่คือสุดทางหรือยัง ต้องฝากไปที่คณะเจรจาว่านี่คือสุดทางหรือยัง หากสุดทางแล้วให้พิจารณาว่าพรรคที่มีอันดับสองจะรวมกันได้หรือเปล่า ก็อยากให้ผ่านไปด้วยดี อย่างไรก็ยังร่วมอุดมการณ์กันอยู่ดี ทั้งเรื่องที่อยากให้ร่าง MOU ใหม่ เรื่องจิตใจที่เป็นประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
แต่หากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรก็ไม่ได้เพราะยังมีก้าวไกลร่วมรัฐบาล จำเป็นหรือไม่ที่ต้องผลักก้าวไกลออก เศรษฐากล่าวว่า คณิตศาสตร์เบื้องต้น ลองนับดูก็แล้วกัน ตนว่าทุกคนรู้อยู่
เมื่อถามย้ำว่า ตามคณิตศาสตร์เบื้องต้นจะทำตามมติกรรมการบริหารพรรค ยอมเป็นนายกฯ โดยไม่มีก้าวไกลใช่หรือไม่ เศรษฐาร้อง “อุ๊ย ยังไม่ถึงจุดนั้น จุดแรกคือ 8 พรรคต้องพูดคุยกันก่อนว่าขั้นตอนต่อไปคืออะไร หากมีมติว่าเพื่อไทยได้เป็นแกนนำก็ต้องมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคก่อน จากนั้นก็ต้องเลือกจาก 3 แคนดิเดตนายกฯ หากไปถึงจุดนั้นก็ต้องว่ากันอีกที ยังเหลืออีกตั้งหลายวัน เสาร์-อาทิตย์ไปพักผ่อนกันให้สบาย”