×

การกลับมาของ อาดา เฮเกอร์เบิร์ก เพื่อจุดไฟการต่อสู้จนกว่าจะมีความเท่าเทียมให้ฟุตบอลหญิง

19.07.2023
  • LOADING...
อาดา เฮเกอร์เบิร์ก

สำหรับใครสักคนที่รักการเล่นฟุตบอลสุดหัวใจ และอุตส่าห์ไปได้ไกลถึงการเป็นนักฟุตบอลหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘บัลลงดอร์’ หรือลูกฟุตบอลทองคำ จากนิตยสาร France Football เมื่อปี 2018 การตัดสินใจที่จะไม่ร่วมเดินทางไปกับทีมชาตินอร์เวย์เพื่อสู้ศึกฟุตบอลโลก 2019 ที่ประเทศฝรั่งเศส ไม่ต่างอะไรจากการตายทั้งเป็น

 

แต่ อาดา เฮเกอร์เบิร์ก รู้ดีว่าราคาที่ต้องจ่ายของเธอคืออะไร

 

หญิงสาวผู้ได้รับมงกุฎราชินีลูกหนังไม่ปรากฏตัวในรายการฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับสตรี ปล่อยให้สุดยอดนักเตะสาวคนอื่นได้ร่ายเพลงแข้งกันไป โดยที่เธอได้แต่หัวใจสลายอยู่ที่บ้านเพียงคนเดียว

 

การตัดสินใจที่จะบอยคอตการแข่งขันของเธอนั้นเพื่อเรียกร้องถึง ‘โอกาส’ และการปฏิบัติอย่าง ‘เท่าเทียม’ ต่อบรรดาเด็กสาวในนอร์เวย์ที่มีความฝันไม่ได้แตกต่างอะไรจากเด็กผู้ชาย ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

 

วันนี้ (ที่เวลาผ่านมา 4 ปีจากวันนั้น) ในฟุตบอลโลกหญิง 2023 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ที่ประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เฮเกอร์เบิร์กซึ่งเติบโตขึ้นจากสาวน้อยในวัย 22 ปีมาเป็นสาวแกร่งในวัย 28 ปีที่ผ่านเรื่องราวการต่อสู้มามากมายในชีวิต โดยเฉพาะปัญหาอาการบาดเจ็บที่เกือบดับลมหายใจแห่งความฝันของเธอ กลับมาแล้ว

 

ในสนามเธอจะร่วมลงชิงชัยความเป็นหนึ่งกับซูเปอร์สตาร์สาวคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เมแกน ราปิโน, อเล็กเซีย ปูเตยาส หรือตำนานที่ยังมีชีวิตอย่าง มาร์ทา

 

แต่นอกสนามเธอยังคงพยายามต่อสู้อยู่เหมือนเดิม ด้วยความรู้สึกแบบเดิม เพื่อวันที่นักฟุตบอลหญิงทุกคนจะได้รับโอกาสและการดูแลอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเรื่องของรายได้

 

การตัดสินใจของเฮเกอร์เบิร์กที่จะไม่เข้าร่วมฟุตบอลโลก 2019 ไม่ใช่การตัดสินใจที่ยอมรับได้ง่ายนัก

 

เธอถูกมองว่าต่อสู้แบบสุดโต่งจนเกินไป และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจในการตัดสินใจของเธอครั้งนั้น และนั่นยิ่งทำให้ดาวยิงสาวชาวนอร์เวย์รู้สึกเจ็บปวด

 

สู้คนเดียวก็แย่พอแล้ว คนไม่เข้าใจและตั้งคำถามกับเธอยิ่งน่าเจ็บปวดขึ้นไปอีก

 

อาดา เฮเกอร์เบิร์ก

 

แต่ก็เพราะการลุกขึ้นต่อสู้ของเธอนี่แหละ ที่ทำให้คบไฟแห่งความหวังในความเท่าเทียมของวงการฟุตบอลหญิงทั่วโลกถูกจุดส่งต่อกันไปเรื่อยๆ

 

ที่อังกฤษ เหล่าดวงดาวสาวแสดงความไม่พอใจต่อสมาคมฟุตบอลอังกฤษเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัส และกำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่ชาวเมืองผู้ดีเริ่มให้ความสนใจ

 

ที่สเปน นักเตะหลายคนซึ่งรวมถึงสตาร์จากบาร์เซโลนาที่เพิ่งคว้าแชมเปียนส์ลีกหญิงมาครองได้อย่าง มาปี เลออน, ซานดรา ปาญอส และ ปาตรี กุยยาร์โร ก็ถอนตัวจากทีมชาติ เพราะไม่พอใจการปฏิบัติของ ฮอร์เก วิลดา โค้ชของทีม

 

ที่ฝรั่งเศสยิ่งแล้วใหญ่ การถอนตัวของ ว็องดี เรอนาร์, มารี-อองตัวเน็ตต์ กาโตโต และ คาดิดิยาตู ดิยานี ที่ประกาศเลิกเล่นทีมชาติ นำไปสู่การไต่สวนครั้งใหญ่เกี่ยวกับพฤติกรรมของ กอรีน ดิยาเครอ โค้ชหญิงที่ความจริงควรจะเข้าอกเข้าใจพวกเธอมากกว่านี้ แต่กลับเหมือนรู้เห็นเป็นใจปล่อยให้ประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFF) พยายามหาเศษหาเลยกับพวกเธอ จนสุดท้ายก็มีการเปลี่ยนแปลงให้ เออร์เว เรอนาร์ เข้ามาคุมทีมแทน

 

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่น่าเห็นใจที่สุดคือทีมชาติที่ไม่โด่งดังและไม่ได้ร่ำรวยนัก 

 

ทีมชาติจาเมกา ถึงกับต้องเปิดระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง เพื่อหาค่าเดินทางและที่พักสำหรับการแข่งขันที่ออสเตรเลีย

 

ทีมชาติไนจีเรียขู่ที่จะถอนตัวจากฟุตบอลโลกครั้งนี้ เพราะไม่พอใจเรื่องเงินส่วนแบ่งรายได้จากฝ่ายจัดการแข่งขัน

 

และทีมชาติแอฟริกาใต้บอยคอตการแข่งขันอุ่นเครื่องนัดสุดท้าย เพราะไม่พอใจเรื่องของเงินส่วนแบ่งรายได้

 

ไฟแห่งการต่อสู้ดูเหมือนจะลุกโชนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเฮเกอร์เบิร์ก หนึ่งในคนที่ร่วมจุดประกายการต่อสู้เหล่านี้ขึ้นมาเชื่อว่า การต่อสู้นั้นจะยาวนาน

 

“ในความเห็นของฉัน มันจะยิ่งไปได้ไกลกว่านี้อีก” สตาร์ชาวนอร์เวย์วัย 28 ปี กล่าว “สิ่งที่เราได้เห็นในวันนี้คือ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน มีภูมิหลังอย่างไร เราทุกคนต่างเจอความท้าทายในแบบเดียวกัน กับการที่สหพันธ์ฟุตบอลต่างๆ ไม่ได้จริงจังนักในการปฏิบัติต่อนักฟุตบอลหญิง มันคือความท้าทายในแบบเดียวกันเสมอ และตอนนี้คุณก็จะได้เริ่มเห็นกระแสที่มันไม่ควรจะเป็นกระแสเกิดขึ้นเลย”

 

“จากมุมมองของฉัน การตัดสินใจเหล่านี้ (ไม่ลงแข่งขัน) มันเป็นการตัดสินใจที่ยากมากๆ และไม่มีใครหรือทีมใดควรที่จะถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจแบบนั้นเลย”

 

อาดา เฮเกอร์เบิร์ก

 

เฮเกอร์เบิร์กเล่าว่า เธอและ ว็องดี เรอนาร์ ซึ่งเล่นด้วยกันในระดับสโมสร มีการพูดคุยกันเรื่องนี้มานานหลายปี ซึ่งใจหนึ่งเธอก็ดีใจที่คนเริ่มเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่เธอพยายามต่อสู้และยืนหยัดมาตลอดนั้นเพื่ออะไร เพราะย้อนกลับไปในวันที่เธอเริ่มคิดและตัดสินใจเรื่องนี้ ซึ่งย้อนกลับไปไกลกว่าวันที่เธอได้บัลลงดอร์เสียอีก เพราะทุกอย่างมันเริ่มในปี 2017 เธอรู้สึกสงสารตัวเองที่แทบไม่มีใครเข้าใจ

 

ที่สำคัญเธอไม่ได้เรียกร้องในสิ่งที่ยังเป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ 

 

“เราไม่ได้พูดถึงเรื่องของการจ่ายเงินค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียม เราแค่พูดถึงเงื่อนไขขั้นต่ำที่จะทำให้รู้สึกว่าพวกเขาดูแลเราอย่างจริงจัง เพื่อให้เราสามารถทำผลงานได้เต็มที่ในสนามในระดับที่ทุกคนต้องการให้เราทำ”

 

สิ่งที่น่าเจ็บปวดสำหรับเธอคือ ในขณะที่เธอคาดหวังว่าจะไม่ต้องพูดในสิ่งเหล่านี้อีก เพื่อจะตั้งใจเตรียมตัวทำให้ดีที่สุดในการแข่งขัน เพื่อทุกคน เพื่อแฟนบอล เพื่อตัวของเธอเอง แต่สุดท้ายเธอก็ยังคงต้องลุกขึ้นพูดในเรื่องเหล่านี้อยู่ดี ซึ่งเธอก็เข้าใจ

 

“นี่แหละคือโลกของความเป็นจริงที่เราอยู่ เราจำเป็นต้องพูดในเรื่องเหล่านี้ปีแล้วปีเล่ากว่าที่มันจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง”

 

และในความรู้สึกส่วนตัวของเธอ การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้น 

 

“จนกว่าผู้หญิงทุกคนจะยืนหยัดไปด้วยกัน” เฮเกอร์เบิร์กกล่าว “ดังนั้นเราต้องเป็นหนึ่งเดียวกันไว้ พยายามเล่นให้ดีที่สุดด้วย เพราะถ้าทำผลงานได้ไม่ดี มันก็เป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลง” 

 

เฮเกอร์เบิร์กพร้อมเสมอสำหรับการต่อสู้ ไม่ใช่แค่เพื่อช่วงเวลา 4 ปีที่หายไปในชีวิตของเธอ แต่เพื่อหวังจะทำให้โลกต้องหันมาฟังเธอและเหล่าเพื่อนพ้องนักฟุตบอลหญิงทุกคน

 

จะพูดให้ฟังจนกว่าจะเข้าใจ ไม่ว่าจะต้องพูดอีกกี่ครั้งก็ตาม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X