×

เกาะติดโหวตนายกรัฐมนตรี​ คนที่ 30 รอบ 2 – 19 กรกฎาคม​ 2566

โดย THE STANDARD TEAM
19.07.2023
  • LOADING...

เกาะติดทุกสถานการณ์การประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี รู้ผลโหวตนายกฯก่อนใคร เกาะติดทุกความเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภา

 


 

เกาะติดประชุมสภา โหวตนายกรอบ 2 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล จะได้เป็นหรือไม่?

 

หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทยในรอบแรกถูกตีตก เนื่องจากมีผู้เห็นชอบให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไปไม่ถึง 375 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 749 คน ทำให้ในวันนี้ (19 กรกฎาคม) จะต้องรอลุ้นว่าแผนการของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่เตรียมมาจะสามารถรวบรวมเสียงในการโหวตครั้งที่ 2 ได้ถึงเป้าหรือไม่

 

  • 07.30-09.30 น. เกาะติดสภาก่อนโหวตนายกฯ
  • 09.30 น. เป็นต้นไป เกาะติดประชุมร่วมรัฐสภาโหวตนายกฯ นับคะแนนสด รู้ผลก่อนใคร
  • หลังปิดประชุม วิเคราะห์อนาคตการเมืองไทย เกาะติดสถานการณ์ต่อเนื่อง

 

 


 

อนุทินเจ็บคอ ไม่ขอตอบท่าทีพรรคอันดับ 2 จับขั้วรัฐบาลใหม่ บอกยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะถึงคิวพรรคอันดับ 3

 

อนุทิน เจ็บคอ

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวภายหลังรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำ ต่อกรณีที่ถึงคิวพรรคอันดับ 2 ในการจัดตั้งรัฐบาลแล้วหรือไม่ ว่า ต้องไปถาม 8 พรรคร่วมก่อน ซึ่งเราก็ทำตามมติของพรรคภูมิใจไทย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคเพื่อไทยยังรวมกับพรรคก้าวไกลจะไม่เอาใช่หรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ก็เป็นไปตามที่ตนและโฆษกพรรคได้แถลงไว้

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า โอกาสจะมาถึงพรรคอันดับ 3 หรือไม่ และพร้อมหรือไม่ อนุทินปฏิเสธที่จะตอบคำถาม

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เวลานี้ใกล้เข้ามาแล้ว พรรคอันดับ 3 มีแนวโน้มอย่างไร อนุทินกล่าวว่า ยังมีอีกหลายขั้นตอน เราก็ให้กำลังใจทุกคน

 

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าหากพรรคเพื่อไทยมาทาบทามพรรคอันดับ 3 ร่วมรัฐบาล จะมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ อนุทินปฏิเสธว่ายังไม่ได้คุยและไม่ได้คิดอะไรเลย ก่อนจะปฏิเสธว่า วันนี้พอก่อน เจ็บคอ

 


 

ธนกร ย้ำ รทสช.ไม่ร่วมรัฐบาลพรรคแก้ม.112 หากเพื่อไทยเป็นแกนนำขอคุยในพรรคอีกที ชี้ต้องเร่งตั้งรัฐบาล ประชาชนรออยู่

 

ธนกร วังบุญคงชนะ

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ ถึงท่าทีของพรรครวมไทยสร้างชาติหลังจากที่ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านโหวตนายกฯแล้ว ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติยืนยันชัดเจนว่า ถ้าพรรคที่เป็นรัฐบาลไม่แก้ไข มาตรา 112 ก็ไม่ขัดข้องที่จะพูดคุย ดังนั้นจึงต้องดูว่ารอบที่สามจะเป็นอย่างไร หากพรรคอันดับ 2 จะจัดตั้งรัฐบาล เราก็ต้องมาดูว่า พรรคที่ร่วมรัฐบาลด้วยจะแก้มาตรา 112 หรือไม่ ถ้ามีเราก็ไม่ร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว นี่เป็นหลักการที่พรรคยืนยันมาตลอด

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไข มาตรา 112 ธนกร กล่าวว่า เราก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่ทุกอย่างต้องคุยกันในพรรคก่อน เพราะถ้ามีพรรคร่วมที่ต้องการแก้มาตรา 112 เราก็คงไม่สามารถไปร่วมรัฐบาลด้วยได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องรอดูว่าจะจบในสัปดาห์หน้า ซึ่งถือเป็นสัปดาห์ที่ 3 หรือไม่ ถ้าไม่จบก็ต่อสัปดาห์ที่ 4 แต่ตนคิดว่าตอนนี้เราต้องเร่งเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว เพราะประชาชนก็รออยู่ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะทิ้งพรรคก้าวไกลได้หรือไม่ ธนกร กล่าวว่า ตนคงไม่ไปก้าวล่วง แต่คิดว่าทุกพรรคก็ต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นแกนนำคงต้องดู และคิดว่าหลังจากนี้กลไกต่างๆคงไม่ยากแล้ว คิดว่าการพิจารณาเรื่องต่างๆ คงง่ายขึ้นแล้ว

 


 

ชัยธวัช เชื่อ พิธา กำลังใจยังเต็ม 100 รอหารือให้สิทธิ์เพื่อไทยนำตั้งรัฐบาล

 

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ปฏิเสธที่จะเปิดเผย แนวทางที่จะให้สิทธิ์พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังรัฐสภามีมติไม่ให้มีการพิจารณา ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำในสมัยประชุมนี้ โดยระบุเพียงว่า ยังต้องมีการพูดคุยกันก่อน และเชื่อว่าคงใช้เวลาในการพูดคุยไม่นาน เพราะมองว่าการได้นายกรัฐมนตรีเร็วที่สุดจะดีที่สุด

 

ส่วนกำลังใจของพิธา ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ส.ส.จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีการถือครองหุ้น ITV นั้น ชัยธวัชเชื่อว่าพิธายังมีกำลังใจเต็มร้อย

 


 

ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก 395 ไม่เห็นชอบเสนอชื่อพิธาซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้

 

เสนอชื่อ พิธา ซ้ำ

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) การประชุมรัฐสภาตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ผ่านมากว่า 7.30 ชั่วโมง มี ส.ส. และ ส.ว. ทั้งฝ่ายที่มองว่าการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่เป็นญัตติ เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงขั้นตอนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ และไม่ได้ห้ามบุคคลที่รัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบเข้าพิจารณาอีก กับอีกฝ่ายที่มองว่าการเสนอชื่อพิธาขัดต่อข้อบังคับที่ 41 ซึ่งระบุว่า ญัตติใดที่รัฐสภาตีตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้

 

ระหว่างการประชุมมี ส.ส. ประท้วงและอภิปรายอย่างกว้างขวาง บางช่วงมีการเสนอญัตติให้ปิดการประชุม แต่ประธานขอให้โอกาสผู้อภิปรายให้ครบก่อน เมื่อมีการอภิปรายครบ ประธานได้ให้ที่ประชุมลงมติว่าการเสนอชื่อพิธาเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อให้สมควรแต่งตั้งเป็นนายกฯ อีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วและมีหลักการเดียวกันมาเสนออีกในที่ประชุมสมัยเดียวกัน และเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับข้อที่ 41 หรือไม่

 

โดยที่ประชุมเห็นชอบมติเสนอชื่อพิธาซ้ำไม่ได้ เนื่องจากถือเป็นญัตติ ด้วยคะแนน 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 312 เสียง งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 374 เสียง จากนั้นประธานได้ปิดการประชุม

 


 

พิธารับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ฝากเพื่อน ส.ส. ทำหน้าที่ดูแลประชาชนต่อ

 

พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นกล่าวกับที่ประชุมว่า “ปัจจุบันมีเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผมหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นจึงขอพูดกับท่านประธานว่า รับทราบคำสั่ง ก็จะปฏิบัติตามอย่างที่เป็นคำสั่ง จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น

 

“ขอใช้โอกาสนี้ในการอำลาท่านประธานจนกว่าเราจะพบกันใหม่ และขอฝากเพื่อนสมาชิกรัฐสภาในการดูแลพี่น้องประชาชน

 

“ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ถ้าเกิดประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง แม้ผมยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอเพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนต่อไป”

 

จากนั้นพิธาได้ถอดบัตรประจำตัวแสดงตนวางไว้บนที่นั่งประจำตัวของตนภายในรัฐสภา โดยมี ส.ส. จาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ลุกขึ้นปรบมือเพื่อเป็นกำลังใจให้กับพิธา ก่อนที่พิธาจะเดินออกจากห้องประชุมไป

 

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ขอบคุณพิธาที่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

รัฐสภาเสริมโป๊ะ เตรียมเรือ พร้อมอพยพ ส.ส.-ส.ว. ทางน้ำ หลังม็อบล้อมสภา ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่

 

รัฐสภาเสริมโป๊ะ เตรียมเรือ พร้อมอพยพ ส.ส.-ส.ว. ทางน้ำ หลังม็อบล้อมสภา ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ที่บริเวณท่าเรือของรัฐสภาฝั่งวุฒิสมาชิก มีเจ้าที่กองทัพเรือ เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และตำรวจน้ำ มาสังเกตการณ์และเตรียมความพร้อมประจำการ โดยเรือที่จะมารับสมาชิกรัฐสภานั้นเป็นเรือขนาดใหญ่ ของทางกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ นอกจากนี้บริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ติดป้ายว่าเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าว ซึ่งคาดว่าจะเป็นทางออกฉุกเฉินของสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากตำรวจรัฐสภาให้ข้อมูลว่าจะปิดทางเข้าออกอาคารรัฐสภาจนกว่าสถานการณ์จะสงบ

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภาฝั่งตึกวุฒิสภา บริเวณท่าน้ำ เจ้าหน้าที่ได้มีการเสริมโป๊ะมาผูกติดกับท่าเรือเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกรัฐสภาหากเกิดเหตุฉุกเฉิน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว และมีมวลชนมาให้กำลังใจบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาจำนวนมาก จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูทางเข้าออกบริเวณด้านหน้า

 

ทั้งนี้ ที่บริเวณท่าเรือของรัฐสภาฝั่งวุฒิสมาชิก มีเจ้าที่กองทัพเรือ เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และตำรวจน้ำ มาสังเกตการณ์และเตรียมความพร้อมประจำการ โดยเรือที่จะมารับสมาชิกรัฐสภานั้นเป็นเรือขนาดใหญ่ ของทางกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ

 

นอกจากนี้บริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ติดป้ายว่าเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าว ซึ่งคาดว่าจะเป็นทางออกฉุกเฉินของสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากตำรวจรัฐสภาให้ข้อมูลว่าจะปิดทางเข้าออกอาคารรัฐสภาจนกว่าสถานการณ์จะสงบ

 


 

เปิดหนังสือศาล รธน. ส่งถึงสภาแล้ว หลังสั่งรับคำร้องและให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปมถือหุ้น ITV

 

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) หลังที่ประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 23/2566)

 

สำหรับคำร้องของ กกต. ดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุที่พิธามีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

 

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในคดีนี้

 

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญให้พิธายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

 

ล่าสุด หนังสือแจ้งคำสั่งศาลได้ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อเวลา 13.28 น. ประธานสภาจะต้องแจ้งต่อที่ประชุมต่อไป

 


 

เรืองไกรไม่แปลกใจ พิธาโดนศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ขอก้าวไกลศึกษากฎหมายให้แม่นๆ

 

เรืองไกร

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หลังรับคำร้องประเด็นถือหุ้นสื่อไว้พิจารณา ว่า ไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย โดยข้อเท็จจริงของคำร้องที่ตนเองยืนยันมาโดยตลอดคือ เรื่องของบัญชีผู้ถือหุ้นและวัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งตามหลักศาลจะต้องให้พิธาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพื่อความเป็นธรรม

 

ทั้งนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แล้ว พิธาต้องออกจากห้องประชุมรัฐสภา ส่วนการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ขอเตือนด้วยความหวังดีว่า สมาชิกรัฐสภาที่เสียบบัตรเพื่อจะโหวตให้พิธา ตนเองจะส่งชื่อทั้งหมดร้องต่อ ป.ป.ช. อย่างแน่นอน เพราะมีความเสี่ยงผิดกฎหมายว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อหน้าที่หรือไม่

 

เรืองไกรกล่าวอีกว่า วันนี้ชื่อของพิธาก็ต้องตกไป ไม่สามารถโหวตได้ โดยพิธาควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการไปต่อสู้คดีมากกว่าการแถลงขอโอกาสอีกครั้ง และเห็นควรเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจำนวน 3 รายชื่อให้รัฐสภาโหวตมากกว่า

 

ส่วนกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีฟ้อง กกต. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. ก่อนเลือกตั้ง เรืองไกรมองว่า ยื่นฟ้องผิดศาล ต้องไปยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า

 

นอกจากนี้เรืองไกรยังได้กล่าวสั้นๆ ถึงการหยุดปฏิบัติหน้าที่ครั้งว่า “ขอให้พรรคก้าวไกลดูกฎหมายให้แม่นๆ หน่อย”

 


 

ประชาชนไม่พอใจ ประชิดประตูรัฐสภา หลังศาลสั่งพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

 

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่บริเวณประตูหน้าอาคารรัฐสภา มีประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ได้ตะโกนส่งเสียงไม่พอใจและแสดงความคิดเห็นหลังทราบข่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องพิธาปมถือหุ้น ITV และสั่งให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 


 

BREAKING: ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หลังรับคำร้องคดีถือหุ้น ITV

 

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่ประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 23/2566)

 

สำหรับคำร้องของ กกต. ดังกล่าวสืบเนื่องจากเหตุที่พิธามีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

 

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในคดีนี้

 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญให้พิธายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

 

ขณะที่ในวันนี้ที่รัฐสภาได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 และคาดว่าจะมีการเสนอชื่อพิธาเพื่อโหวตอีกครั้ง

 


 

เปิดขั้นตอนรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 รอบที่ 2

 

หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทยในรอบแรกถูกตีตก เนื่องจากมีผู้เห็นชอบให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไปไม่ถึง 375 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 749 คน ทำให้ในวันนี้ (19 กรกฎาคม) จะต้องรอลุ้นว่าแผนการของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่เตรียมมาจะสามารถรวบรวมเสียงในการโหวตครั้งที่ 2 ได้ถึงเป้าหรือไม่ 

 

กระบวนการและขั้นตอนการเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เป็นอย่างไร THE STANDARD สรุปรวบรวมมาให้แล้ว

 

 


 

‘พิธา’ ฝาก 4 ประเด็นถึง ส.ว. ขอตัดสินใจยึดหลักการ-ยึดมติประชาชน พาประเทศพ้นช่วงเวลามืดมน

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ก่อนการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความลงเพจเฟซบุ๊ก ระบุ 4 ประเด็น ฝากถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกท่าน มีเนื้อหาดังนี้ 

 

  1. ภายในสถานการณ์ปกติ ในรัฐธรรมนูญปกติของนานาอารยประเทศ วันนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะผ่านการเลือกตั้งมาเกิน 2 เดือนแล้ว รัฐบาลร่วมของ 8 พรรคซึ่งได้ 312 เสียง ถือเป็นเสียงข้างมากในสภา มีผมเป็นนายกรัฐมนตรี คงหน้าดำคร่ำเครียดแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนอยู่

 

แต่ที่เรายังต้องอยู่กันแบบนี้ในวันนี้ ก็เพราะภายในรัฐธรรมนูญนี้เสียงของประชาชนมันไม่เพียงพอ ผมต้องมาขอความเห็นชอบจากท่าน เพื่อจะได้เข้าไปบริหารประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน

 

  1. เมื่อปี 2562 ส.ว. จำนวน 249 จาก 250 คน เห็นชอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านให้เหตุผลว่าไม่ได้โหวตให้กับประยุทธ์ แต่โหวตให้กับผู้ที่ถือเสียงข้างมากในสภาล่าง

 

มาวันนี้พวกผมถือเสียงข้างมากในสภาล่างแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่ท่านจะต้องลำบากใจในการโหวตให้ผมหากท่านยึดหลักการดังกล่าวจริง

 

นอกจากนี้ ในการโหวตเมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส.ว. หลายท่านเลือกงดออกเสียง หรือขาดประชุมไปเลย โดยให้เหตุผลว่ายึดหลักการว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ควรเป็นหน้าที่ของ ส.ว. ทั้งที่ท่านทราบดีว่าการกระทำแบบนี้จะได้ผลตรงข้าม คือเท่ากับเป็นการขัดขวางการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ให้เป็นไปตามเสียงของสภาล่าง

 

ในวันนี้ ผมขอวิงวอนว่า หากท่านยึดถือหลักการตามที่ท่านให้เหตุผลตามนี้จริง ไม่ได้กระทำไปด้วยเหตุอื่น โปรดโหวตให้กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของเสียงข้างมากจากประชาชน

 

  1. ส่วนท่านที่โหวตไม่เห็นชอบโดยให้เหตุผลว่าพรรคก้าวไกลไม่จงรักภักดี มุ่งทำลายสถาบันฯ ผมขอกล่าวต่อหน้าสภาแห่งนี้ว่ามีร้อยแปดเหตุผลที่ทำให้ท่านไม่อยากให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการกระทบผลประโยชน์ของท่าน กลุ่มทุนที่ท่านสนับสนุนอยู่ แต่ท่านรู้ดีว่าไม่สามารถอ้างเหตุผลเหล่านี้ได้ ท่านจึงเลือกใช้เหตุผลว่าเราไม่จงรักภักดี ผมขอถามว่าการกระทำแบบนี้ส่งผลดีต่อสถาบันหลักของชาติอย่างไร และนี่ไม่ใช่การดึงสถาบันฯ เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับประชาชนอย่างนั้นหรือ?

 

  1. สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้อาจจะเรียกว่า ‘ฝุ่นตลบ-มืดมน-ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะไปในทิศทางไหน’ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ท่านจะตัดสินใจอย่างไรให้ถูกต้องและพาชาติพ้นจากวิกฤต?

 

ผมยืนยันว่าในยามที่มืดมน ไม่รู้จะยึดอะไร มี 2 สิ่งที่ยึดไว้แล้วปลอดภัยเสมอ นั่นก็คือ ‘ยึดหลักการ’ และ ‘ยึดมติประชาชน’

 

ท่านตัดสินใจโหวตตามหลักการและโหวตตามเสียงประชาชน รับใช้ประชาชน ผมรับรองว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ชื่อของท่านจะถูกจารึกไว้บนแผ่นดินนี้อย่างมีเกียรติ เป็นที่ภาคภูมิใจของลูกหลาน

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

 


 

10.09 น.

 

อนุทิน ย้ำจุดยืนไม่เอาพรรคแก้ ม.112 ไม่โหวตแคนดิเดตฯ นายกเพื่อไทย หากมีก้าวไกลร่วมรัฐบาล

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา อนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ว่า ก็ต้องรอฟังว่าวันนี้จะสามารถดำเนินการโหวตได้หรือไม่ แต่สำหรับการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทยจะยึดตามข้อบังคับเป็นหลัก พร้อมยืนยันจุดยืนเดิมว่าเราไม่สนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างน้อย ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังมีพรรคก้าวไกลเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล เราจะไม่โหวตให้

 

ส่วนหากพรรคอันดับที่ 2 ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีก พรรคอันดับที่ 3 อย่างภูมิใจไทยพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาลแทนหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ก็ต้องรอให้เกิดขึ้นก่อน เพราะขณะนี้พรรคอันดับที่ 1 เขายังอยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาลอยู่ ฉะนั้นขออย่าเพิ่งไปคาดการณ์อะไร แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีความเหมาะสมหรือไม่ ตนมองว่าทุกพรรคการเมืองพิจารณามาแล้วว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวพร้อมชิงนายกรัฐมนตรีหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ขอให้มีความชัดเจนก่อน ตอนนี้ขอสนับสนุนพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จก่อน

 

 


 

09.45 น.

 

ชลน่านยัน 8 พรรคร่วมชี้ญัตติโหวตนายกฯ ไม่ซ้ำ เสนอชื่อพิธารอบ 2 ได้

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต จังหวัดน่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงญัตติซ้ำการโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ 2 ว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนแล้วว่าญัตติดังกล่าวไม่ซ้ำ และไม่ได้เป็นญัตติตามข้อบังคับที่ 41 ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าสามารถเสนอกระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ 2 ได้

 

ชลน่านยืนยันว่า ในวันนี้จะยังไม่มีการเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน รวมส่วนกรณีพรรคร่วมรัฐบาลที่ 9-10 นั้น ยังยืนยันเช่นเดียวกันว่ายังต้องปฏิบัติตาม MOU เดิมอยู่

 

ส่วนคะแนนที่พรรคก้าวไกลควรหลีกทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ชลน่านกล่าวว่าไม่ได้มีการคิดไว้ แต่หากเอาตามถ้อยแถลงของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือต้องมากกว่า 10% ของคะแนนเดิม หรือประมาณ 360 เสียงขึ้นไป พร้อมยืนยันว่ายังสนับสนุน 8 พรรคร่วมอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นญัตติใด

 

ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาคำร้องที่ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ชลน่านกล่าวว่า มีสมาชิกของพรรคเพื่อไทยได้สอบถามในที่ประชุมพรรคว่า กรณีที่ศาลฯ วินิจฉัยออกมาไม่ว่าจะมุมไหน อย่างไร จะมีผลต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันนี้หรือไม่ หากศาลฯ วินิจฉัยเพียงรับคำร้องยังไม่ได้มีการวินิจฉัยอย่างเป็นที่สุดนั้น เราถือว่าพิธายังมีคุณสมบัติที่ไม่มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และสามารถเสนอชื่อได้ ก็ยังสามารถให้ความเห็นชอบได้

 

 


 

09.41 น.

 

ธนกรประกาศ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ย้ำจุดยืนไม่ร่วมพรรคแก้ ม.112 ‘ก้าวไกล’ ไปไกลเกินกว่าจะถอยหลัง

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา ก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2

 

ธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ในหลักการของพรรครวมไทยสร้างชาติยังคงยืนยันไม่เห็นชอบในการโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อวานนี้ (18 กรกฎาคม) ในที่ประชุมพรรคมีมติตรงกันว่าในการประชุมวันนี้ไม่ควรมีการเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชื่อเดิมซ้ำสอง

 

ธนกรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบรรยากาศการเมืองจะเห็นว่าสมาชิกของพรรคก้าวไกล หรือแม้แต่กลุ่มแฟนคลับของพรรค ไปบูลลี่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตนเองไม่เห็นแกนนำของพรรคออกมาทำความเข้าใจกับสมาชิกและกลุ่มแฟนคลับว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

โดยหลักการแล้วคนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน เมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าวก็จะต้องสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความขัดแย้งความแตกแยกบานปลายออกไป แล้ววันนี้ท่านก็กลับไปขอเสียงจาก ส.ว. อีก ถือว่าเป็นการเดินเกมที่ไม่ถูก

 

ธนกรกล่าวย้ำว่า ในหลักการของพรรครวมไทยสร้างชาติจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกับพรรคใดก็ตามที่มีแนวร่วมเป็นพรรคที่มีนโยบายแก้มาตรา 112 ส่วนกับพรรคการเมืองอื่นตนคิดว่าคุยกันได้ทุกพรรคอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม พรรคของเราเองก็พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน

 

เมื่อถามว่าหากพรรคก้าวไกลยอมลดเพดานการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 มีความคิดเห็นอย่างไร ธนกรกล่าวว่า ทุกพรรคทราบดีว่าพรรคก้าวไกลเดินหน้าไปไกลเกินกว่าจะถอยหลังแล้ว เรื่องนี้ตนก็ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติก็จะต้องเดินหน้าไปเช่นกัน

 

 


 

09.34 น.

 

‘กัณวีร์’ พร้อมเป็นฝ่ายค้านเคียงข้างก้าวไกล หากญัตติถูกตีตก 8 พรรคต้องหารือกัน ไม่หวั่นเพราะรู้ว่ามีแผนสกัดตั้งแต่แรก

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา กัณวีร์ สืบแสง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงความพยายามใช้ข้อบังคับที่ 41 ตีตกญัตติเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 วันนี้ โดยยืนยันว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ไม่สามารถนำข้อบังคับมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นหากมีการเสนอเรื่องนี้ พรรคเป็นธรรมจะใช้ข้อมูลในการอภิปรายตอบโต้

 

กัณวีร์ยืนยันว่าเวลานี้ทั้ง 8 พรรคยังคงยืนยันที่จะเสนอชื่อพิธา หากไม่สามารถเสนอได้จริงก็จะต้องรอประธานรัฐสภาบอกถึงแนวปฏิบัติ ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป และการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นต้องมีการหารือกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทั้ง 8 พรรคจะไม่หวั่นและสู้ต่อไป เพราะจะยืนเคียงข้างประชาชน เดินหน้าทำตามฉันทมติของประชาชน

 

ส่วนที่ ส.ว. ยืนยันว่า การจัดตั้งรัฐบาลต้องไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วยนั้น กัณวีร์มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นฉันทมติพี่น้องประชาชน 14 ล้านเสียงที่มอบให้พรรคก้าวไกล ดังนั้นจึงมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล และหากพรรคก้าวไกลจะต้องไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคเป็นธรรมก็มีจุดยืนเดียวกันที่จะยืนเคียงข้างกับพรรคก้าวไกลแล้วไปเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน

 

 


 

09.25 น.

 

จุรินทร์เผย รอมติประชาธิปัตย์ก่อนลงมติโหวตนายกฯ รอบ 2 แนวโน้มไม่เห็นชอบพิธา

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ต้องหารือในที่ประชุม ส.ส. พรรคก่อน เพื่อให้มีมติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแนวทางไม่น่าจะให้ความเห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ส่วนจะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดิมซ้ำได้หรือไม่ ต้องรอฟังความเห็นจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อน เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายและข้อบังคับการประชุม

 

 


 

09.19 น.

 

‘ส.ว. ดิเรกฤทธิ์’ ระบุไม่ควรเสนอชื่อ ‘พิธา’ ชิงเก้าอี้นายกฯ ซ้ำรอบสอง แต่ต้องให้ความเป็นธรรม ปมศาล รธน. วินิจฉัยรับคำร้องคดีหุ้นสื่อ

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา ก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2

 

ดิเรกฤทธิ์ เจนทองคำ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการเสนอญัตติการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ในการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ว่า เมื่อฟังจากความเห็นและเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่ายก็สามารถรับฟังได้ เพราะแม้แต่ประธานรัฐสภาก็ตัดสินใจไม่ได้ เมื่อมีความเห็นต่างกันก็ต้องมีการลงมติ

 

ขณะที่ความเห็นส่วนตัว และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางท่าน ก็มองว่าไม่สามารถเสนอซ้ำได้ ควรจะเสนอชื่อบุคคลอื่น หากจะเสนอซ้ำก็ควรเว้นสมัยการประชุม

 

ส่วนเรื่องการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณารับคำร้องกรณีการถือหุ้นของพิธาในเช้าวันนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกเสนอชื่อ โดยต้องรอว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร แต่ถ้าหากมีการรับคำร้องและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ยอมรับว่ามีผลต่อการตัดสินใจ เพราะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิด หมิ่นเหม่ต่อความเชื่อที่ว่าอาจจะขาดคุณสมบัติ ที่มีคนไปฟ้องว่า หากสนับสนุนผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติจะเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง แต่หากไม่เข้าข่ายศาลก็ตีตกคำร้องได้

 

ส่วนตัวจะตัดสินใจอย่างไรขอดูข้อเท็จจริง ณ เวลาที่ลงมติ แต่ก็มีความเห็นที่คาดไว้ตามหลักกฎหมายในการโหวตไว้อยู่แล้ว

 

 


 

09.14 น.

 

หมอทศพรวาดภาพเหมือนพิธา เตรียมมอบให้เจ้าตัว ชี้อยากให้โหวตนายกฯ จบวันนี้ ประเทศเดินหน้าต่อได้

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา ก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2

 

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ได้วาดภาพเหมือนเพื่อต้องการมอบให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

พร้อมระบุว่าอยากให้การโหวตนายกรัฐมนตรีจบวันนี้ ประเทศจะได้เดินหน้าต่อ นี่คือความปรารถนาดีจากพรรคเพื่อไทยที่แสดงถึงความจริงใจมอบให้พิธา ส่วนหากโหวตไม่ได้ ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องสู้กันต่อ

 
 
 
 

 

09.09 น.

 

เสรีพิศุทธ์เชื่อวันนี้ไม่ได้โหวตนายกฯ ระบุหากเพื่อไทยเสนอชื่ออุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา คงได้คะแนนจากชาติไทยพัฒนา

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา ก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมประชุม โดยผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าวันนี้จะมีเสียงโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เพิ่มเติมจากการโหวตครั้งก่อนหรือไม่ เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า คิดว่าวันนี้อาจจะไม่มีการลงคะแนนโหวต ช่วงเช้าอาจมีการอ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่าจะให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หรือไม่

 

ถ้ามีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ทั้งนี้พรรคก้าวไกลได้ระบุไว้ว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีของพิธาไม่ได้เกี่ยวกับสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะสมัยของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ก็สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้

 

เสรีพิศุทธ์กล่าวต่อว่า เมื่อประเด็นนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ต่อมาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการหารือต่อว่าญัตติการเสนอพิธาถือว่าตกไปแล้ว ไม่สามารถนำเสนอชื่อได้ใหม่อีกครั้งในการประชุมสมัยนี้ ประเด็นดังกล่าวก็จะต้องมีการถกแถลงต่อไป แล้วก็จะนำไปสู่การโหวตชื่อนายกรัฐมนตรี

 

ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคประชาธิปัตย์ที่สัมภาษณ์ระบุว่าไม่ร่วมโหวตให้พิธา เนื่องจากติดขัดในส่วนของการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

ทั้งนี้ หากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีใหม่เป็น แพทองธาร ชินวัตร หรือ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และเมื่อไม่มีพรรคก้าวไกลแล้ว พรรคชาติไทยพัฒนาก็อาจจะยินดีร่วมโหวตให้

 

เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่งได้ใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 ขณะนั้นพรรคเพื่อไทยมีเสียง ส.ส. มากที่สุด พรรคพลังประชารัฐเป็นอันดับ 2 แต่รวมเสียงได้มากกว่า จึงได้จัดตั้งรัฐบาลเลือกนายกรัฐมนตรี

 

ส่วนในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยที่มาเป็นอันดับ 2 ไม่ได้มีการแย่งจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าหากถามว่าทำได้ไหมก็สามารถทำได้ ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครจะจัดตั้งรัฐบาลอยู่ที่การรวมเสียงให้ได้มากที่สุด

 
 
 
 

 

09.04 น.

 

วราวุธชี้พิธาถูกรัฐสภาตีตกไปแล้วไม่ควรเสนอใหม่ รอรัฐสภาชี้ขาด ย้ำไม่ร่วมงานกับพรรคแก้ ม.112

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวก่อนการประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และตามระเบียบการประชุมรัฐสภา การเลือกนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ เพราะต้องมีการรับรองการเสนอจาก ส.ส. และ ส.ว. ดังนั้น เมื่อมีการเสนอชื่อและลงคะแนนแล้ว และถูกรัฐสภาตีตกไปแล้ว จึงไม่ควรนำเสนอใหม่ แต่เชื่อจะได้ข้อสรุปด้วยการลงมติของรัฐสภา และประธานรัฐสภาจะเปิดโอกาสให้อภิปรายก่อน

 

ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ถือเป็นญัตตินั้น มองว่านักวิชาการแต่ละคนมีความเห็นต่างกัน แต่ทั้งนี้ ก็จะต้องฟังทีมกฎหมายของรัฐสภาและการตัดสินใจของที่ประชุมรัฐสภาด้วย

 

วราวุธยังยอมรับถึงกรณีที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย โทรศัพท์ติดต่อมาเพื่อขอเสียงสนับสนุนพิธา ต้องพิจารณาด้วยว่าการติดต่อมาเป็นข้อเสนอของพรรคเสรีรวมไทยพรรคเดียว หรือเป็นมติของพรรคก้าว

 

 


 

08.56 น.

 

วิทยาชี้ พิธาถูกรัฐสภาตีตกนั่งนายกฯ แล้ว ไม่ควรเสนอใหม่-มองเพื่อไทยมีโอกาสลุ้น 3 ครั้ง

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา วิทยา แก้วภราดัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 โดยย้ำว่าการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติ และได้ถูกตีตกไปแล้ว ไม่ควรนำกลับเข้ามาเสนอในที่ประชุมรัฐสภาใหม่ เว้นแต่จะเป็นการเสนอที่มีพฤติการณ์ใหม่หรือเหตุการณ์ใหม่ และเมื่อเป็นญัตติก็จะต้องดำเนินการภายใต้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

 

วิทยายังระบุด้วยว่า ตามรัฐธรรมนูญไม่มีฉบับใดกำหนดว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งลำดับที่ 1 ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่เป็นธรรมเนียมในการรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาล หากทำไม่สำเร็จก็จะเป็นสิทธิของพรรคการเมืองลำดับถัดไปที่จะรับไม้ต่อ ซึ่งอยู่ที่พรรคก้าวไกลจะมอบไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทยเมื่อใด โดยมองว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสถึง 3 ครั้งในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเพื่อให้ได้คะแนนเสียงที่ครบถ้วน แต่พรรคก้าวไกลมีโอกาสเพียงครั้งเดียว ซึ่งจบไปแล้ว หากจะเอาครั้งที่ 1 มาเหยียบซ้ำอีกที ทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องเรียงตามลำดับของแต่ละพรรค อย่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ มาเป็นลำดับที่ 5

 
 

 


 

08.19 น.

 

สุทินเผย เสนอพิธาชิงนายกฯ รอบสองเหนื่อย สู้กันที่ข้อบังคับ 41 ชี้ยังไม่เสนอชื่อแคนดิเดต ‘เพื่อไทย’ ต่อแน่นอน

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กล่าวถึงการประชุมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลว่า อย่างที่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อพิธา ซึ่งเป็นสปิริต ด้วยความเต็มใจและยินดี หากถามว่าเกมจะพลิกหรือไม่นั้นคงต้องลุ้นนิดหน่อย เรื่องการยื่นตีความข้อบังคับที่ 41 ว่าจะสามารถเสนอชื่อพิธาชิงนายกรัฐมนตรีอีกครั้งได้หรือไม่

 

สุทินกล่าวต่อว่า เนื่องจากมีการแบ่งกลุ่มก้อนความคิดออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ระบุว่าไม่สามารถส่งชื่อพิธาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ได้ เนื่องจากขัดกับข้อบังคับที่ 41 ขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มที่มองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ขัดต่อข้อบังคับ ต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนตนเองคิดว่าเรื่องนี้ประธานสภาจะต้องฟังความคิดเห็นของสมาชิก และในที่สุดแล้วจะจบด้วยการที่ประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยหรือสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ลงมติ นับว่าเป็นจุดที่สำคัญ

 

หากสามารถผ่านด่านนี้ไปได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรี หากไม่สามารถผ่านไปได้ก็ถือว่าจบ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะยังจับมือกันตาม MOU อยู่หรือไม่ สุทินกล่าวว่า เราได้พูดคุยกับพรรคร่วม ยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไป และหากถึงจุดหนึ่งจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องตัดสินใจร่วมกัน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ยังไม่มีพรรคอื่นที่จะมาเพิ่มใช่หรือไม่ สุทินกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มี โดยในวันนี้เราต้องทำหน้าที่ในการโหวตนายกรัฐมนตรีในรอบที่สองให้เสร็จ และผลการลงคะแนนออกมาเป็นอย่างไรค่อยหารือกันอีกครั้ง

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ให้ขอคะแนนเสียงจากพรรคอื่นมาเพิ่มนั้น สุทินกล่าวว่า การที่ขอเสียงกันหรือจะประสานงานกันเป็นเรื่องปกติและไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด เพราะมองว่าเป็นคำแนะนำที่ดี พรรคเพื่อไทยเองก็อยากให้ผ่าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากญัตติเปลี่ยนไป จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ สุทินกล่าวว่า ในวันนี้ยังไม่มี ยังยืนยันที่จะเสนอชื่อพิธาเช่นเดิม แต่ท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมรัฐสภามีความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อบังคับที่ 41 อย่างไรก็จะจบที่ตรงนั้น พร้อมเชื่อว่าหากญัตติในส่วนนี้ผ่านก็สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ หากไม่ผ่านก็คงปิดการประชุม และดำเนินการต่อในสัปดาห์หน้า

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมโหวตนายกรัฐมนตรีในวันนี้จะเหนื่อยกว่าเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมหรือไม่ สุทินกล่าวว่า คิดว่าคงเหนื่อยที่จะต้องมาสู้กันเรื่องข้อบังคับที่ 41 เพราะเป็นความคิดเห็นที่มีความก้ำกึ่งอย่างมาก แม้แต่ทีมกฎหมายของรัฐสภาเองก็แบ่งความคิดเห็นออกเป็นสองฝ่าย

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากใช้มติเสียงข้างมากของทั้งสองรัฐสภามีโอกาสที่จะโหวตตกหรือไม่ สุทินกล่าวว่า ยังไม่มีความแน่นอน เพราะทุกคนมีอิสระทางความคิด ซึ่งเรื่องการแก้ไขข้อบังคับที่ 41 นั้นไม่ได้เป็นมติแต่อย่างใด คนคิดเห็นอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้น โดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องลุ้นอย่างมาก

 

 

 

 


 

08.12 น.

 

‘ส.ว. จเด็จ’ ยันไม่โหวตให้ ‘พิธา’ ปัดตอบสูตร ส.ว.-ส.ส. เสียงข้างน้อยร่วมกันสกัด ‘พิธา’ ได้หรือไม่

 

ที่อาคารรัฐสภา ก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2

 

จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า หากวันนี้สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง ยืนยันว่าจะโหวตไม่เห็นชอบให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม

 

ส่วนตัวเชื่อว่าวันนี้ไม่สามารถโหวตนายกฯ ได้ เนื่องจากขัดต่อข้อบังคับที่ 41 ของการประชุมรัฐสภา ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คิดเห็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ เพราะแต่ละคนมีความเห็นของตัวเอง อ่านข้อบังคับรัฐธรรมนูญเล่มเดียวกัน แต่อาจเห็นต่างกันได้

 

เมื่อถามว่า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เสียงข้างน้อย 188 เสียง รวมกับ ส.ว. 250 เสียง จะถูกมองว่าเป็นเสียงข้างมากร่วมกันสกัดพิธาหรือไม่ เพราะมีความเห็นว่าการเสนอชื่อนายกฯ กับญัตติเป็นคนละเรื่องกัน จเด็จกล่าวว่า ขอให้ถึงตอนนั้นก่อน ตอนนี้ยังให้ความเห็นอะไรไม่ได้

 

เมื่อถามว่า การตัดสินใจเช่นนี้จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเลือกนายกฯ ในอนาคตหรือไม่ จเด็จเชื่อว่าไม่ เพราะบรรทัดฐานอยู่ในสภา ประธานรัฐสภาต้องคำนึงเรื่องนี้อยู่แล้ว และประธานรัฐสภาสามารถใช้ดุลพินิจได้ โดยที่ไม่ต้องลงมติก็ได้

 
 

 


 

07.44 น.

 

มณเฑียรย้ำ ให้โอกาสพรรครวมเสียงข้างมากได้-ไม่ออกความเห็นเสนอพิธาซ้ำสองได้หรือไม่

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ว่า ยังคงยืนยันหลักการเดิมที่จะต้องให้โอกาสพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ ซึ่งส่วนตัวจะไม่ใช้หลักการอื่น

 

ส่วนกรณีที่ยังมีข้อถกเถียงว่าจะสามารถเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 ขอปฏิเสธที่จะออกความคิดเห็น ขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคน เพราะแต่ละคนก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising