พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรกของสยามหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2427 ที่บ้านถนนตรีเพชร ตำบลพาหุรัด จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนสุดท้องของนายฮวดกับนางแพ้ว หุตะสิงห์ ชาวไทยเชื้อสายจีน โดยจบการศึกษาชั้นต้นที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เมื่อปี 2433 และศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นเวลา 4 เดือน ก่อนจะเข้าศึกษาต่อวิชาหนังสือไทยที่วัดจักรวรรดิ์จนสอบไล่ได้ประโยค 2 ในปี 2437 และต่อมาได้เข้าศึกษาต่อวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นเวลา 4 ปี จนจบชั้นปีที่ 4 และได้ศึกษาต่อวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตสยามในปี 2446 ก่อนจะได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาด้านกฎหมายจนสำเร็จเนติบัณฑิตจากสถาบัน Middle Temple กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
หลังสำเร็จเนติบัณฑิตแล้ว ท่านได้เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กระทรวงยุติธรรม จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงประดิษฐ์พิจารณ์การ’ ต่อมาได้เป็น ‘สมุหพระนิติศาสตร์’ และ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ ในที่สุด
นอกจากนี้ท่านยังเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามาก ในเวลาต่อมาได้เป็นอธิบดีศาลฎีกา และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีที่ปรึกษาราชการในพระองค์มาตั้งแต่ปี 2461
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิวัติสยาม หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 คณะราษฎรได้เสนอให้แต่งตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎรคนแรก ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหารเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน และถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสยาม ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475
โดยคณะราษฎรยังได้เสนอรายชื่อคณะกรรมการราษฎร หรือคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทย ภายหลังจากการประชุมสภาผู้แทนคณะราษฎรครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ภาพ: Pictures From History / Universal Images Group via Getty Images