วันนี้ (11 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อเตรียมความพร้อมการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ร่วมกับตัวแทนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมประชุม โดยใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงในการหารือ ซึ่งจะมีการอภิปรายและจะโหวตกันได้ในเวลา 17.00 น. โดย ส.ว. ได้เวลา 2 ชั่วโมง และ ส.ส. จากทุกพรรคการเมืองได้เวลา 4 ชั่วโมง ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมมีข้อบังคับอยู่ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น
วันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยสมาชิกที่เข้ามาประชุมว่า ตนจะนัดคุยกับตำรวจสภาเพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว โดยจะให้เป็นไปตามประกาศการชุมนุมในที่สาธารณะ ขณะที่ประชาชนรวมทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และพรรคการเมืองก็ควรไปชี้แจง เพราะเชื่อว่าคนที่มาส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ตนเชื่อในเจตนาดีของประชาชนที่อยากเห็นบ้านเมืองได้นายกรัฐมนตรี และอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง หากได้นายกฯ ล่าช้า บ้านเมืองก็จะเกิดความเสียหาย ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุน จึงขอให้คิดให้หนักว่าจะทำอย่างไรให้ได้นายกฯ ด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ สภาไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของสมาชิกเท่านั้น แต่ประชาชนที่มาสังเกตการณ์นั้นเราก็จะจัดสถานที่ให้ด้วย
ส่วนจะมีการเปิดโอกาสให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะที่เป็นผู้ที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ก่อนการลงมติหรือไม่นั้น วันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ตามขั้นตอนจะมีการเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด และพรรคการเมืองสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อน จากนั้นจะมีการอภิปรายโดย ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งก่อนที่จะลงมติก็สามารถอภิปรายถึงความเหมาะสม คุณสมบัติ และเรื่องต่างๆ ได้ เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนลงมติหากมี ส.ส. หรือ ส.ว. เสนอให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ก็จะต้องขอมติจากที่ประชุมก่อน เนื่องจากข้อบังคับการประชุมไม่ได้กำหนดขั้นตอนนี้ไว้
วันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวถึงกรณีที่หากรัฐสภาไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรก ในการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งถัดไปจะสามารถเสนอชื่อพิธาได้อีกหรือไม่ เนื่องจากยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าการลงมติครั้งแรกผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากไม่ผ่านก็จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง โดยยึดรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินในอดีต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จึงขอให้การประชุมครั้งแรกผ่านพ้นไปก่อน หากยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐสภาก็จะต้องดำเนินการหาตัวบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐสภา
วันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวถึงกรณีที่มี ส.ว. เสนอให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะจะต้องรอดูในวันประชุมจริงก่อนว่าจะมีการเสนอหรือไม่