วันนี้ (8 กรกฎาคม) ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และตัวแทนญาติผู้เสียชีวิต 99 ศพจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 ร่วมกันแถลงข่าว เรียกร้องศาลยุติธรรมเพื่อคืนความยุติธรรมให้คนตาย 99 ศพและผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน
เนื่องจากก่อนวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ศาลจะอ่านคำพิพากษาคดีที่ ธาริต และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งถูก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ขณะนั้นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต
ธาริตเริ่มต้นกล่าวว่า ตั้งแต่พ้นตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ตนไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องดำเนินคดีเลย นอกจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งที่ตนออกมาจะพูดในครั้งนี้ เพราะมีเวลาเหลืออีกไม่กี่วัน เนื่องจากตนมีแนวโน้มค่อนข้างมากว่าจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เหมือนสมัยการทำคดีโรงพักร้าง 365 แห่ง ที่ต้องเข้าเรือนจำ 13 เดือน
ธาริตกล่าวต่อว่า ทั้งนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านประมุขนิติบัญญัติและรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย เชื่อว่าภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนตนจะได้รับความยุติธรรม และ 9 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ไม่ปกติ ฉะนั้นจึงอยากเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ให้มีการตั้งคณะกรรมอิสระที่เป็น Senior Super Board มาแก้ไขข้อผิดพลาดในเรื่องนี้เพื่อคืนความยุติธรรมให้ประชาชน 99 ศพ และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 คน ซึ่งตนพร้อมติดคุกและพร้อมยอมรับคำพิพากษาศาล เพื่อคืนความยุติธรรม
ธาริตกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ตนไม่เคยเปิดเผยกับใครแม้กระทั่งในศาล เพียงแต่รับรู้และได้ยินกับหูเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นคำสั่งคำบัญชาว่า ถ้าดีเอสไอทำคดี 99 ศพ จะทำการปฏิวัติ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการย้ายตนและเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่ง
ธาริตเผยว่า ตอนนั้นตนถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่เครือข่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ร่วมปฏิวัติเรียกให้เข้าไปในพื้นที่ทหารย่านถนนราชดำเนิน บอกว่า “อย่าดำเนินคดี 99 ศพนะ ถ้าทำพวกอั๊วปฏิวัติ และลื้อจะโดนย้ายเป็นคนแรก” ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อมีการปฏิวัติ 2557 ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ตนและ อรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดที่รับผิดชอบคดี 99 ศพ ก็ถูกย้าย
ธาริตกล่าวต่อว่า สืบเนื่องเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช. 2553 ศูนย์ ศอฉ. โดยอภิสิทธิ์และสุเทพได้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 เข้าสลายการชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 ศพ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีตนเป็นอธิบดีในขณะนั้นจำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งในข้อหา ป.อาญา มาตรา 288-289 โดยจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของตนในนามอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งผลให้อภิสิทธิ์และสุเทพยื่นฟ้องตนในฐานะพนักงานสอบสวนในคดี
ทั้งนี้เพื่อรักษาความยุติธรรม ทั้งต่อพนักงานสอบสวน รวมถึงผู้เสียชีวิต 99 ศพ และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ตนเห็นว่าหากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ดำเนินคดี แล้วถูกฟ้องกลับอาจก่อให้เกิดลัทธิเอาอย่าง ด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ฉะนั้นตนจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.อาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหมายความว่าศาลอาญาและศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียเองไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ธาริตมีความกังวลว่า แม้ว่าศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นจะได้พิพากษายกฟ้องตนกับพวก และระบุว่าผู้ตาย 99 ศพไม่ใช่ผู้กระทำผิด แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาว่าเป็นความผิด และคำพิพากษาดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงที่ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเคยร่วมชุมนุมกับ กปปส. และเมื่อคดีนี้ขึ้นสู่ศาลฎีกาบุคคลดังกล่าวก็ได้ขยับขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าว ญาติผู้เสียชีวิต 99 ศพได้ให้กำลังใจให้ธาริตให้รอดพ้นจากคดี และบางส่วนเปิดเผยว่า หลังปี 2553 กระบวนการยุติธรรมไม่เหมือนเดิม ขอฝากไปยังรัฐบาลใหม่ให้หันมาให้ความสนใจให้ความจริงปรากฏ