×

คลื่นลมแปรปรวน แนะติดตามการเมืองในประเทศ

07.07.2023
  • LOADING...
Opinion

การลงทุนในเดือนมิถุนายนยังคงความผันผวนต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า พิจารณาได้จากการเคลื่อนไหวของ SET Index ที่แกว่งตัว Sideways ถึง Sideways Up ในช่วงครึ่งเดือนแรก ก่อนปรับฐานลงแรงในช่วงครึ่งเดือนหลัง และสามารถปรับตัวขึ้นมาได้ในช่วง 2 วันสุดท้ายของเดือน ภาพการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมขอเริ่มที่ปัจจัยต่างประเทศกันก่อนครับ 

 

จากเรื่องของสหรัฐฯ ที่ยังวนกันไปมาในเรื่องอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังมีท่าทีที่จะยังไม่ยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ค่ากลางของ Dot Plots ปรับขึ้นจากเดิมอีก 0.50% แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ย มีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ 5.50-5.75% ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BOE ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 5% ถือว่าเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์และนักลงทุน  

 

โดยธนาคารกลางในหลายประเทศต่างก็ส่งสัญญาณมาทางเดียวกันคือ ออกมาเป็น Hawkish ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะรุ่น 1-3 ปี ขณะที่ปัจจัยด้านราคาน้ำมันกลุ่ม OPEC โดยซาอุดีอาระเบียจะปรับลดกำลังการผลิตแบบสมัครใจอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ มองได้ค่อนข้างชัดถึงแนวโน้มราคาและการใช้พลังงานที่จะปรับตัวลดลงอันเนื่องมาจากความกังวลที่มีต่อความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า  

 

ปัจจัยอื่นๆ ก็มีเรื่องความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังและอาจจะพาเอาเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของเอเชียแผ่วตามไปด้วย เรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ ซึ่งผมขอดูอีกสักเดือนก่อนจะมาให้น้ำหนักเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เรื่องสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ยังคงมาเรื่อยๆ ไม่แผ่ว ท้ายสุด เรื่องของรัสเซีย-ยูเครนก็น่าจะไปดำเนินต่อไป โดยผมคาดว่าจะจบก็ต่อเมื่อเลิกมีฝ่ายสนับสนุนจากประเทศที่เรียกตัวเองว่าพันธมิตร

 

หันมาที่ประเทศไทยกันบ้าง มีเรื่องน่าคิดพอสมควร คือการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หรือ MPC ออกมาพูดถึงประเด็นเรื่องเศรษฐกิจไทยและอัตราดอกเบี้ย โดยให้มุมมองว่าถ้าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะปกติ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ควรเป็นบวก (ปัจจุบันติดลบ) เหมือนประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย จากประเด็นนี้เองทำให้มีการวิเคราะห์ว่า MPC กำลังส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ปรับขึ้นจาก 2.00% เป็น 2.50% 

 

อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่าทั้งหมดทั้งมวลก็คงต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมอีกครั้งก่อนจะตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออก ปริมาณนักท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง และนโยบายของรัฐบาลใหม่ 

 

เอาละ ขอหันมาแตะเรื่องการเมืองกันบ้าง เอาเป็นว่าสรุปเบ็ดเสร็จได้ว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และเป็นไปตามกลุ่มที่เห็นกันอยู่ตอนนี้ ภาพรวมการลงทุนน่าจะดีขึ้นช่วงสั้น แต่ก็จะตามมาด้วยความกังวลอันนี้เป็นเรื่องยาว กังวลเรื่องอะไร เรื่องหลักก็น่าจะเป็นการรื้องบด้านการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นตัวเร่งที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภค จะทำให้การอนุมัติและใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวล่าช้าออกไป เรื่องถัดมาก็คือนโยบายของรัฐบาล เดาว่าเรื่องแรกที่รัฐบาลจะเร่งทำน่าจะเป็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 

ดังนั้น ประเด็นเชิงนโยบายในส่วนของการเงินและการคลังส่วนที่นอกเหนือจากงบประมาณอาจจะเป็นเรื่องรองลงไป ความกังวลที่มีต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบการเงินนั้นน่าจะไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากนัก เพราะไม่ใช่อะไรที่ต้องเร่งรีบ สามารถที่จะค่อยๆ พูดคุยกันไปได้ 

 

สำหรับภาพการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง โดยปัจจัยการเมืองในประเทศจะกลายเป็นปัจจัยหลัก เพราะเข้ามาสู่ช่วงการเลือกนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งรัฐบาล และการแถลงนโยบายรัฐบาล หากเป็นไปอย่างราบรื่นแรงกดดันที่มีต่อตลาดหุ้นน่าจะคลายตัวลงคงจะไปอยู่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน สำหรับตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่น 1-3 ปี จะมาอยู่ใกล้ๆ กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนรุ่น 10 ปีขึ้นไปอาจจะไม่ค่อยแกว่งตัวมาก เพราะน่าจะกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ 

 

สำหรับมุมมองด้านการลงทุนนั้น ผมมองว่าความผันผวนที่อาจจะเกิดจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ ถ้ายังอยู่บนกฎกติกาปกติ ความผันผวนดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นาน ดังนั้นสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมยังคงแนะนำลงทุนในหุ้น 45% แบ่งเป็น สหรัฐฯ และจีน รวมกันไม่เกิน 15% เนื่องจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศและสงครามการค้า คงน้ำหนักญี่ปุ่นไว้ที่ 10% ประเทศไทย 20% ในส่วนของตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade ประมาณ 10% ตลาดเงิน 10% ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกัน 15% โดยเน้นไปที่ REIT คำแนะนำการจัดพอร์ตดังกล่าวข้างต้นนี้ ผมคาดการณ์จากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่ยังสามารถดำเนินต่อไปอย่างปกติครับ 

 

หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยฉบับหน้าเราจะกลับมาคุยกันใหม่ครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X