รู้หรือไม่ว่า สถิติแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่เปิดเผยโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่ามีมูลค่าความเสียหายโดยรวมทั่วประเทศกว่า 38,000 ล้านบาท
ข้อมูลล่าสุดยังพบว่า ได้รับแจ้งคดีออนไลน์สูงถึง 800 คดีต่อวัน ซึ่งคดีความที่มีการแจ้งความมากที่สุดยังคงเป็นการหลอกซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการ อันดับที่ 2 เป็นคดีหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และอันดับที่ 3 เป็นการหลอกให้กู้เงิน ตามลำดับ สำหรับคดีที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด อันดับที่ 1 เป็นการหลอกให้ลงทุน อันดับที่ 2 เป็นการหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และอันดับที่ 3 เป็นคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือ Call Center
ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์ อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยงานวิจัยในบทความ ‘จิตวิทยาของการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ’ ชี้ว่าผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อของการหลอกล่อให้รักเพื่อหลอกลวงทรัพย์สิน อีกกลุ่มคือคนสูงวัย มักเป็นเหยื่อของการโกงทรัพย์หรือหลอกล่อเอาข้อมูลส่วนตัวออนไลน์ ในขณะที่บุคคลที่มีการศึกษาและมีรายได้ค่อนข้างสูงมักเป็นเหยื่อของการล่อลวงให้ลงทุน
งานวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงลักษณะนิสัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงการถูกโกงทรัพย์สินโดยมิจฉาชีพ ได้แก่ คนที่มีนิสัยและพฤติกรรมเสี่ยง กล้าลอง จึงมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอของผู้หลอกลวงมากถึงสองเท่า อีกประเภทคือคนที่มีความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำ เช่น มีนิสัยซื้อของโดยไม่ทันยั้งคิด และสุดท้ายคือคนที่มีความสามารถในการจัดการอารมณ์ต่ำ ทำให้ความสามารถในการไตร่ตรองข้อมูลลดลง จึงมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอมากกว่าคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ดี
ด้วยเล่ห์เหลี่ยมมิจฉาชีพที่แพรวพราวขึ้นทุกวัน ใครที่คิดว่ารู้ทันก็อาจจะเสียรู้ เพราะดูจากกลโกงที่แนบเนียนมากขึ้น และอาศัยจุดอ่อนของคนที่มีความกลัว ความตื่นตระหนก หวาดวิตก ความโลภ และขาดสติ ทำให้เหยื่อต้องพลาดท่ามานักต่อนัก ดังนั้น นอกจากจะต้องหมั่นอัปเดตกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพอยู่เสมอแล้ว อาวุธสำคัญที่จะช่วยให้เรารับมือกับทุกกลโกงได้ก็คือ ต้องอัปเดตสติของเราให้ทัน
ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เห็นว่าการป้องกันภัยคุกคามทางการเงินเป็นวาระสำคัญของชาติที่ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ‘คน’ มิจฉาชีพอาศัยจุดอ่อนของคนที่มีความกลัว ความอยากได้ และความไม่รู้ หลอกลวงประชาชนโดยใช้วิธีต่างๆ ธนาคารจึงได้ทำแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ ซึ่งเป็นแคมเปญต่อเนื่องจากแคมเปญ #ใช้สติป้องกันสตางค์ ในปี 2562 เพื่อรณรงค์ให้ข้อมูลและความรู้กับประชาชนถึงภัยกลโกงของมิจฉาชีพ
ปีนี้ KBank ต่อยอดแคมเปญล่าสุด #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ ส่งภาพยนตร์โฆษณาเตือนภัย 3 กลโกงที่มีเหยื่อโดนหลอกอย่างต่อเนื่อง พลาดท่าเสียทั้งเงินและมีคดีติดตัว ได้แก่
หลอกให้โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน: คลิกลิงก์แปลกเสี่ยงเงินหมดบัญชี!
หนึ่งในกลโกงที่มีมูลค่าความเสียหายสูงและมีเหยื่อโดนหลอกอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นวิธีที่ได้ผลอันดับต้นๆ! โดยมิจฉาชีพจะหลอกล่อด้วยสถานการณ์ต่างๆ ใช้ความกลัวและความอยากได้มาเป็นแรงกระตุ้น เช่น หลอกว่ามีคดีความผิด, หลอกให้รับสิทธิของหน่วยงานหรือโครงการต่างๆ, หลอกว่าสินเชื่อได้รับการอนุมัติ หรือหลอกว่าถูกรางวัล โดยการเข้าถึงเหยื่อหลากหลายช่องทาง ทั้ง SMS และแชตผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ถ้าไม่ตั้งสติให้ดี มิจฉาชีพจะหลอกให้กดลิงก์โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือ และโอนเงินออกจากแอปฯ ธนาคารจนหมดบัญชี
วิธีป้องกัน ตั้งสติก่อน! อย่าคลิกลิงก์แปลก และอย่าคล้อยตามสถานการณ์และคำลวงของคนแปลกหน้า หากไม่แน่ใจว่า SMS ที่ได้รับหรือเบอร์ที่โทรมาเป็นของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้วางหูทันที และติดต่อหน่วยงานที่มิจฉาชีพแอบอ้างเพื่อตรวจสอบข้อมูล ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยยกเลิกการส่ง SMS แบบแนบลิงก์แล้ว หากได้รับ SMS แนบลิงก์ที่มาจากธนาคารให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ และติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบทันที
หลอกเป็นนายหน้ากู้เงินเถื่อน: ไม่ได้เงิน แถมเป็นหนี้!
กลโกงที่มิจฉาชีพกลุ่มนี้ใช้คือ เล่นกับความเดือดร้อนของคน โดยอ้างว่าเป็นนายหน้าช่วยดำเนินการให้เหยื่อกู้สินเชื่อได้โดยง่าย โดยขอค่านายหน้าเป็นค่าดำเนินการ พร้อมคีย์เวิร์ดที่ใช้ได้ตลอดกาล ‘กู้ง่าย อนุมัติไว ไม่ตรวจสอบข้อมูล ไม่ต้องค้ำประกัน’ หรือบางกรณีจะให้เหยื่อโอนเงินค่าธรรมเนียมหรือมัดจำมาให้ก่อน หลังจากโอนเงินเรียบร้อยแล้วก็จะไม่สามารถติดต่อนายหน้ากู้เงินเถื่อนได้อีกเลย ดังนั้น ถ้าไม่ตั้งสติ หลงเชื่อคำลวงง่ายๆ นอกจากเงินจะไม่ได้แถมยังเป็นหนี้เพิ่มอีก
วิธีป้องกัน ขอสินเชื่อกับธนาคาร ลูกค้าสามารถดำเนินการได้เอง และธนาคารไม่มีนโยบายการคิดหรือหักค่านายหน้าใดๆ จากสินเชื่อที่ขอยื่นกู้
หลอกเปิดบัญชีม้า: เสี่ยงทำผิดกฎหมาย
‘บัญชีม้า’ คือบัญชีธนาคารที่เจ้าของบัญชีตัวจริงไม่ได้เปิดเพื่อใช้เอง แต่ถูกหลอกหรือรับจ้างเปิดบัญชี แล้วถูกมิจฉาชีพนำไปใช้กระทำความผิดต่างๆ เช่น ฟอกเงิน ค้ายา และการพนัน รวมถึงนำไปรับเงินจากการหลอกลวงหรือโกงผู้อื่น ซึ่งตามกฎหมายแล้ว เจ้าของบัญชีที่ขายบัญชีให้บุคคลอื่นไปกระทำความผิดนั้น ผู้เป็นเจ้าของบัญชีถือมีความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งเสี่ยงผิดกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นๆ ด้วย
วิธีป้องกัน เตือนตัวเองและมีสติอยู่เสมอว่า ‘ไม่รับจ้างเปิดบัญชี หรือขายบัญชีให้กับผู้อื่นโดยเด็ดขาด!’ งานนี้นอกจากจะได้ไม่คุ้มเสียแล้ว ยังเสี่ยงมีคดีติดตัวอีกด้วย
นอกจากภาพยนตร์โฆษณาเตือนภัย 3 กลโกงมิจฉาชีพแล้ว KBank ยังได้จัดทำสื่อ ‘สารานุโกง’ แหล่งรวมข้อมูลกลโกงของมิจฉาชีพล่าสุด พร้อมวิธีป้องกัน ไปจนถึงวิธีแก้ไขหากเกิดพลาดพลั้งเผลอหลงกลไป จะมีคำแนะนำพร้อมช่องทางติดต่อผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยธนาคารยินดีมอบสื่อต่างๆ ที่ธนาคารจัดทำขึ้นด้วยความปรารถนาดีให้กับหน่วยงาน บริษัท และห้างร้านที่สนใจ นำไปใช้เผยแพร่ต่อเพื่อให้ความรู้กับพนักงานหรือประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถดาวน์โหลดคลิป #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ และสื่อ #สารานุโกง ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลกลโกงของมิจฉาชีพล่าสุด พร้อมวิธีป้องกัน ได้ที่ https://kbank.co/42woxk2
อ้างอิง: