ถ้าให้ลองนึกถึง ‘เนยและชีส’ คุณจะนึกถึงแบรนด์อะไรเป็นแบรนด์แรก?
เชื่อว่าคำตอบของใครหลายคนน่าจะเป็น Allowrie แบรนด์จากประเทศออสเตรเลียที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ หรือ Imperial แบรนด์สัญชาติไทยที่มีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ทั้งเนย ชีส แยมผลไม้ ไปจนถึงคุกกี้
โดยตอนนี้บริษัทผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Top of Mind และผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาเหล่านี้ ก็เติบโตกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกินหกพันล้านบาทไปแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือเร็วๆ นี้ เรากำลังจะได้เป็นเจ้าของ ไม่เพียงแค่เนย ชีส หรือผลิตภัณฑ์อาหารเท่านั้น แต่จะมีโอกาสร่วมเป็นเจ้าของบริษัทกันด้วย เพราะ ‘บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น’ หรือ KCG กำลังจะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเร็วๆ นี้
พัฒนานวัตกรรม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ New Normal
KCG มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารมากว่า 64 ปี โดยเริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ซึ่งเล็งเห็นโอกาสในธุรกิจอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ จึงได้เริ่มนำเข้าผลิตภัณฑ์เนยและชีสชั้นนำจากทั่วโลก โดยในปัจจุบัน KCG มีสินค้ารวมกว่า 2,100 รายการ
แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน แต่การทำธุรกิจที่ดีนั้นควรพัฒนาและปรับตัวเสมอ เช่นเดียวกับ KCG ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็น Trendsetter หรือผู้นำเทรนด์ในตลาด เช่น การพัฒนา ‘แดรี่โกลด์ชีสอุด้ง’ ที่เป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ชีสสู่สแน็คเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการนำเสนอสินค้าที่ยังไม่เคยมีผู้ประกอบการรายอื่นทำมาก่อน
โดยหนึ่งในเมกะเทรนด์มาแรงในช่วงนี้คือการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และภาวะโรคระบาดที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคหันมาทดลองผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (Plant-based) หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ Keto ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ KCG ที่เน้นสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพ
เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง KCG มีศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ KCG Excellence Center เป็นของตัวเอง เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ MCT Butter ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (Plant-based) เรียกได้ว่า KCG มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในสูตรใหม่ๆ ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและไม่ได้ทำจากนม เพื่อเป็นอาหารทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ และสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
อย่างผลิตภัณฑ์สเปรดทาขนมปัง ซึ่งมีส่วนประกอบของรำข้าวและคาโนลา สำหรับลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ ต้องการเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์แป้งแพนเค้กในรูปแบบขวด เพื่อลูกค้าที่ชื่นชอบความสะดวกสบาย และตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบของคนเมือง โดยเพียงแค่เติมน้ำ เขย่า และนำไปทอดในกระทะ ก็จะกลายเป็นแพนเค้กรสชาติกลมกล่อมแบบพร้อมรับประทาน
3 กลุ่มธุรกิจของ KCG
นอกจากผลิตภัณฑ์ข้างต้นแล้ว KCG ยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายประเภท โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เนย ชีส และผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากนม เช่น นมพร้อมดื่ม วิปปิ้งครีม ครีมชีส และโยเกิร์ต
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
- ผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งผลิตภัณฑ์ส่วนผสมของอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป
- ส่วนประกอบในการทำเบเกอรี เช่น แป้งเค้ก แป้งมิกซ์
- ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้นแบรนด์ SUNQUICK
- อุปกรณ์ในการทำเบเกอรีและอุปกรณ์ประกอบอาหาร
3. กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์คุกกี้ ผลิตภัณฑ์แครกเกอร์ และผลิตภัณฑ์เวเฟอร์
ปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของ KCG ประมาณ 60% มาจากการขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เนยและชีสที่บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด (Market Share) เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 55.0% และ 31.6% ตามลำดับ นอกจากนี้ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบการทำเบเกอรี และผลิตภัณฑ์บิสกิตของ KCG ก็มี Market Share อยู่ในอันดับ Top 5 ของตลาดอีกด้วย (ข้อมูลปี 2564 จาก Euromonitor)
เร่งเครื่องสู่ผู้ผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์เนย ชีส และผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคระดับโลก ผ่าน 4 กลยุทธ์
จากเป้าหมายของ KCG ที่ต้องการก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพรายใหญ่ในประเทศไทย และเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเนย ชีส รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคระดับโลก ทำให้บริษัทมีการขับเคลื่อนธุรกิจผ่านกลยุทธ์หลัก 4 ข้อ ดังนี้
1. ขยายกำลังการผลิต พัฒนากระบวนการและเทคโนโลยีการผลิต
- ปรับผังโรงงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างเต็มที่
- เพิ่มสายการผลิตของผลิตภัณฑ์ชีส เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
- ย้ายโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เนย เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์เนย
- นำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
2. พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม
KCG เน้นการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีที่เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ และมีกลยุทธ์ปรับจำนวนผลิตภัณฑ์ โดยลดการผลิตผลิตภัณฑ์บางประเภทที่มียอดขายหรืออัตรากำไรขั้นต้นต่ำ และทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นสูง
นอกจากนี้เนื่องจากบริษัทมีรายได้หลักมาจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม บริษัทจึงมีกลยุทธ์ในการเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ทำจากนม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของวัตถุดิบต่ำ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผลิตภัณฑ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรมากขึ้น
3. ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และการส่งออกไปยังต่างประเทศ
- ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Shoppertainment และ Edutainment เช่น การไลฟ์ผ่าน Facebook และ TikTok โดยบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อแนะนำสินค้าและโปรโมชัน โดยเน้นทั้งสาระและความบันเทิง
- เพิ่มการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยจะใช้ประโยชน์จากความเป็นผู้นำธุรกิจในประเทศไทยในการขยายสู่ภูมิภาคอื่น เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่บริษัทเล็งเห็นถึงการขยายตัวและมีศักยภาพการเติบโตสูง
4. แสวงหาโอกาสขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A Opportunities)
KCG มีแผนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศผ่านการร่วมทุน (Joint Venture) หรือการควบรวมกิจการ (M&A) โดยเน้นธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายและมีศักยภาพการเติบโต รวมถึงการลงทุนธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) อย่างผู้ผลิตวัตถุดิบในการผลิต เช่น ไขมันนม ชีส น้ำมันปาล์ม เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) ลดต้นทุนวัตถุดิบ และเพิ่มความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทสัญชาติไทยที่มีผลิตภัณฑ์โดดเด่นเป็นที่รู้จักของคนไทยมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และยังเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพ
เพราะในการทำธุรกิจนั้น เมื่อธุรกิจใดหยุดนิ่ง ก็เท่ากับธุรกิจนั้นเริ่มนับถอยหลังแล้ว
อ้างอิง: